ปรับพอร์ตอย่างไรในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว นักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตภายในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขาย เช่น บริษัท Apple มีการจัดตั้งฐานการผลิตในอินเดียเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขายในประเทศอินเดีย
การปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย โดยมีวิธีปรับตามการวิเคราะห์วงจรเศรษฐกิจ 4 ช่วง ดังนี้
1. ช่วงระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery Stage)
· ในช่วงระยะนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เริ่มเติบโต, การจ้างงานเพิ่มขึ้น, ความมั่นใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
· กลยุทธ์การลงทุน : ควรเริ่มเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Growth และกลุ่มตลาด Emerging รวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชน
2. ช่วงระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟู (Expansion Stage)
· ในช่วงระยะนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จะเติบโตดี, การจ้างงานสูง, ความมั่นใจของผู้บริโภคสูง
· กลยุทธ์การลงทุน : ในช่วงนี้พอร์ตควรมีน้ำหนักหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Growth และตลาด Emerging
3. ช่วงระยะเศรษฐกิจถดถอย (Slowdown Stage)
· ในช่วงระยะนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จะเติบโตช้า, การจ้างงานลดลง, ความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง
· กลยุทธ์การลงทุน : ควรเริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่เป็นกลุ่ม Growth ลงและเปลี่ยนไปถือกลุ่ม Defensive มากขึ้น และปรับพอร์ตตราสารหนี้ภาคเอกชนลงโดยเปลี่ยนเป็นการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวแทน
4. ช่วงระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (Contraction Stage)
· ในช่วงระยะนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จะหดตัว, การจ้างงานต่ำ, ความมั่นใจของผู้บริโภคต่ำ
· กลยุทธ์การลงทุน : ควรเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ของพอร์ตและลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลง
ในแง่ของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันปี 2024 เริ่มเข้าสู่ช่วงระยะฟื้นตัว (Recovery Stage) สังเกตจากตัวเลขดัชนีตัวแปรชี้ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้า (Leading indicator) ที่สำคัญอย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการ (Global Composite PMI) ที่ขยายตัวมาต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกันสะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของหลายๆ ประเทศที่กำลังกลับทิศเป็นขาลง เริ่มจากยุโรปที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นที่แรกจาก 4.5% ลงสู่ระดับ 4.25% ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนโดยเน้นหุ้นในกลุ่ม Growth และ ตลาด Emerging ตามเหตุผลดังนี้
สาเหตุที่เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่ม Growth เข้าพอร์ตในช่วงระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว
1. รายได้และกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น : ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าหรือบริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทผู้ผลิตสูงขึ้น และทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตาม
2. ต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ลดลง : บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มนี้มักจะต้องการเงินทุนในการขยายกิจการ ดังนั้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทลงได้
3. การตอบสนองและการเปลี่ยนแปลงของตลาด : บริษัทที่มี Growth ส่วนใหญ่มักจะมีการปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในยุคนี้บริษัทส่วนในหญ่เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นและลดต้นทุนของบริษัท
สาเหตุที่เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มตลาด Emerging เข้าพอร์ตในช่วงระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง : ตลาดหุ้น Emerging ส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยหนุนให้ตลาด Emerging เติบโตได้เร็วขึ้น
2. การบริโภคภายในประเทศที่สูง : ประเทศกำลังพัฒนามีข้อได้เปรียบด้านค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงจำนวนประชากรที่มีมากกว่า ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจะส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น และตามมาด้วยการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้นตาม
3. การลงทุนจากต่างประเทศ : ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว นักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตภายในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขาย เช่น บริษัท Apple มีการจัดตั้งฐานการผลิตในอินเดียเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขายในประเทศอินเดีย