เปิด 6 ซูเปอร์ดีลธุรกิจ ยักษ์ใหญ่ 'ควบรวม' ขยายอาณาจักร
เปิด 6 ซูเปอร์ดีลธุรกิจ ยักษ์ใหญ่ 'ควบรวม' ขยายอาณาจักร ล่าสุด GULF ควบรวมกิจการ INTUCH จัดตั้งเป็น “บริษัทใหม่ชื่อ NewCo” คาดตั้งบริษัทใหม่ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568 รวมกันเท่ากับ 774,378.43 ล้านบาท เตรียมเขยิบติด 1 ใน 5 มาร์เก็ตแคปสูงสุด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย มีการการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) เพื่อเสริมความสามารถทางธุรกิจ และช่วยยกระดับความสามารถของธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มยิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าจากการควบรวม รวมไปถึงการที่อาจจะมี สินค้า บริการ และนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผูู้บริโภคอีกด้วย
เฉกเช่นกรณี GULF พี่เบิ้มโรงไฟฟ้า ควบรวบ INTUCH สายแข็งด้านเทคโนโลยี รุกอินฟราเทคเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการในการบริหารจัดการและการลงทุนในอนาคต
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้มีบริษัทที่มีการรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ล่าสุดก็จะเป็น DTAC กับ TRUE หรือหากย้อนไปอีกจะมี หุ้น BEM ที่มาจาก BECL กับ BMCL และออกมาเป็นบริษัทใหม่ชื่อว่า BEM หรือ JWD ควบรวม SCGL เปลี่ยนชื่อเป็น SJWD และหลังจากที่มีการควบรวมกิจการแล้วส่วนใหญ่ก็ดีขึ้นหมด และดีกว่าที่แยกกันอยู่ ซึ่งเป็นการนำจุดดีของแต่ละบริษัทเข้ามาช่วยให้บริษัทใหม่มีความแข็งแกร่งขึ้น
ยกตัวอย่าง DTAC กับ TRUE ซึ่ง TRUE มีความอ่อนแอทางการเงิน ขณะที่ DTAC มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน จึงทำให้โครงสร้างทางการเงินสมดุลมากขึ้นพอได้มารวมกัน ส่งผลให้ภาระหนี้มีการปรับตัวลดลง ทำให้ดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินก็ต่ำลง ส่วน DTAC ก็อาจจะไม่มีธุรกิจไฟเบอร์ให้บริการ และได้ TRUE เข้ามาเติมในเน็ตบ้านที่ทำได้ดี เป็นต้น
เพราะฉะนั้นในหุ้น GULF กับ INTUCH เป็นการนำจุดดีของแต่ละบริษัทมารวมกัน ซึ่ง INTUCH เป็นธุรกิจสื่อสาร มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก ส่วน GULF เป็นธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีภาระหนี้ เมื่อเกิดบริษัทใหม่จะทำให้เกิดการบาลานซ์โครงสร้างทางการเงินได้ และสุดท้ายโครงสร้างในการดำเนินงานเป็นการนำจุดดีมารวมกัน ในธุรกิจอนาคตอย่าง data center และ Cloud และ AI ต้องใช้ไฟฟ้าเยอะ
“ในการเข้ามารวมกันของ GULF กับ INTUCH แม้จะเป็นการรวมกันในคนละธุรกิจ แต่สุดท้ายทั้ง 2 ธุรกิจจะไปด้วยกัน โดยเฉพาะธุรกิจประมวลผลทางด้าน AI หรือ data center หรือ Cloud ที่จะมีการใช้ไฟที่มากขึ้น จึงทำให้เห็นภาพว่า ในอนาคตจะ Synergy ต่อกันอย่างแน่นอน”
โดยในอนาคตยังเชื่อว่า บริษัทที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาจะมี Synergy ที่มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น แน่นอนจะไปมีการไปดึงเม็ดเงินลงทุนให้มาสนใจในบริษัทใหม่ได้ เพราะเมื่อนำ GULF และ INTUCH มารวมกัน จะมีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นกว่า 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในระดับเบอร์ 4 ของตลาดหุ้นไทย จะทำให้บริษัทใหม่มีความใหญ่ และถูกจัดให้อยู่ในทุกดัชนี จึงทำให้สามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้เยอะ
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการควบรวมกิจการต้องดูว่า Synergy คือ รวมกันแล้วโดยเฉพาะบริษัทมหาชน ต้องได้มากกว่า 2 ที่มากกว่า Synergy เช่น DTAC กับ TRUE ที่มีการควบรวมกิจการ จะเป็น Synergy ในการลดคอร์สค่าใช้จ่ายได้เยอะ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้มีการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
แต่ในแง่ของ GULF กับ INTUCH จะมี Synergy ที่มากกว่า เนื่องจากว่า Singtel จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทใหม่ด้วย ในสัดส่วน 9% ซึ่ง Singtel มีการขยายกิจการไปในส่วนของ data center ค่อนข้าง ส่งผลให้ทิศทางธุรกิจใหม่ในอนาคตไม่ได้เป็น Synergy ในการลดค่าใช้จ่าย เหมือนธุรกิจอื่น ๆ ที่เคยควบรวมกันมาก่อนหน้านี้ แต่เป็น Synergy ของการเติบโตของธุรกิจใหม่ ซึ่ง GULF จะหลุดจากโรงไฟฟ้าเดิม ๆ และเป็นธุรกิจอินฟราสตัคเจอร์
แม้ว่าจะเกิดการควบรวมกิจการกันขึ้นมา ส่งผลให้ประชาชนอาจจะมีความกังวลว่า เมื่อมีผู้เล่นน้อยรายมากขึ้นจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ อย่าง DTAC กับ TRUE ที่ผู้ใช้บริการอาจจะมีความกังวลว่าจะมีการปรับขึ้นราคาหรือไม่ เพราะมีคู่แข่งที่น้อยราย แต่ในความเป็นจริงก็เห็นแล้วว่า ไม่เป็นเช่นนั้น และยังไม่เห็น เพราะเป็นปัจจุบันยังคงมากฎเกณฑ์รองรับให้กับผู้บริโภคอยู่
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมธุรกิจก่อนหน้าที่ได้มีการควบรวมกิจการ ซึ่งมีดังนี้
1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ควบรวมกิจการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH จัดตั้งเป็น “บริษัทใหม่ชื่อ NewCo” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะตั้งบริษัทใหม่ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568
ปัจจุบัน GULF มีมาร์เก็ตแคป 525,058.46 ล้านบาท ขณะที่ INTUCH
มีมาร์เก็ตแคป 249,319.97 ล้านบาท รวมกันเท่ากับ 774,378.43 ล้านบาท จะทำให้เขยิบขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 4
2.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ควบรวมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2567 โดยชื่อว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
- มาร์เก็ตแคป 314,424.12 ล้านบาท
- ผลตอแทนราคา YTD +80.20%
- เงินปันผล YTD -%
- ราคาปิด 9.20 บาท
3.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ควบรวม บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO เปลี่ยนชื่อใหม่ของ ESSO เป็น บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566
- มาร์เก็ตแคป 29,590.34 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD +0.59%
- เงินปันผล YTD 2.92%
- ราคาปิด 8.70 บาท
4.ทีเอ็มบี ควบรวม ธนชาต
ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต หรือ TBANK ได้ควบรวมกิจการ ภายใต้ชื่อใหม่ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ TMB Thanachart มีโลโก้คือ ttb วันที่ 9 สิงหาคม 2562
- มาร์เก็ตแคป 172,216.19 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD +5.99%
- เงินปันผล YTD 5.91%
- ราคาปิด 1.76 บาท
5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ซื้อกิจการ บล.โนมูระ พัฒนสิน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในด้านการลงทุนให้กับองค์กร
- มาร์เก็ตแคป 180,216.16 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -13.27%
- เงินปันผล YTD 3.47%
- ราคาปิด 24.80 บาท
6.บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BMCL ควบรวมกิจการกับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BECL เกิดบริษัทใหม่ชื่อว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM
- มาร์เก็ตแคป 119,987.25 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -1.26%
- เงินปันผล YTD 1.81%
- ราคาปิด 7.85 บาท