ภารกิจด่วน ‘ประธาน ก.ล.ต.’ คนใหม่ เร่งปฏิรูปบังคับใช้กฎหมายสางปมคดีค้างเก่า

ภารกิจด่วน ‘ประธาน ก.ล.ต.’ คนใหม่ เร่งปฏิรูปบังคับใช้กฎหมายสางปมคดีค้างเก่า

ภายหลังจาก “ตลาดทุนไทย” ถูกสั่นคลอนความเชื่อมั่น จากประเด็นอื้อฉาวที่เริ่มตั้งแต่ บริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และยังมีหลายๆ เคสใหญ่เกิดขึ้นตามกันติดๆ อย่างบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

และล่าสุด บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รวมถึงก่อนหน้านี้ “ราคาหุ้นไอพีโอ” เคลื่อนไหวผันผวนหนัก กำลังลามเป็นโดมิโน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย 

สะท้อนไปยัง “มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ในตลาดหุ้นไทย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” สะท้อนภาพใหญ่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า “ตลาดยังไม่เห็นการฟื้นกลับมา” ภายใต้ความคาดหวังเรียก “ความเชื่อมั่นคืน” กลับสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง 

ดังนั้น นี่ถือเป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของ “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ประธานบอร์ด ก.ล.ต.) คนใหม่ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งเข้ามาแทน “นายพิชิต อัคราทิตย์” ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา 

ล่าสุด “ประธาน ก.ล.ต.คนใหม่” ประกาศนโยบายเร่งด่วนสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ให้เห็นผลชัดเจนภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า และจะนำเข้าเสนอที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.พิจารณาในช่วงต้นเดือนส.ค.นี้  

ประธาน ก.ล.ต. ชี้นโยบายเร่งด่วน 2 เรื่อง 

“ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์” ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเร่งด่วน 2 เรื่องทั้ง “สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน” และ “ส่งเสริมตลาดทุนไทย” ว่า สำหรับเรื่องแรกคือ “มุ่งเน้นการปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทย และทำให้ตลาดทุนไทยเป็นไปตามกลไกตลาด และตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง 

แน่นอนว่า เราต้องสร้างมาตรฐานกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ให้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม โดยต้องมีการแยกระดับการดำเนินคดีต่างๆ เช่น การแยกตามคดีที่มีผลกระทบรุนแรง (High Impact) ผลกระทบปานกลาง (medium Impact ) และผลกระทบน้อย (Low Impact)   

พร้อมทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด (ร้องทุกข์กล่าวโทษ)ในแต่ละระดับคดี “ให้เร็วขึ้นเป็นหลักเดือน” จากที่ผ่านมาใช้เวลาเป็นหลักปี โดยจะนำใช้มาเป็นมาตรฐานตัวชี้วัด (KPI) ประสิทธิผลต่อไป

ยกตัวอย่าง ในประเทศสิงคโปร์ มีกระบวนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ไปจนถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจับกุม และพิพากษาจนสิ้นสุด กำหนดไม่เกิน 2 ปี

แต่สำหรับ ก.ล.ต. คงกำหนดภายใต้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.เป็นหลัก แต่การเข้ามารับตำแหน่งนี้ จะพยายามเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย 

ดังนั้น จะมุ่งเดินหน้าเพื่อเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือดังกล่าวกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาล (อัยการ) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. เห็นผลดี และชัดเจนยิ่งขึ้น  และมุ่งเน้นกระบวนการสื่อสารมีความชัดเจนร่วมกัน ทั้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดข้อโต้แย้งต่างๆ  ได้ 

รวมถึงการยกร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับทางกระทรวงการคลัง ซึ่งทางรมว.คลัง ก็ให้ความสำคัญเร่งด่วนฟื้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทยด้วยเช่นกัน

คดีที่ค้างอยู่ต้องทยอย ออกมาภายใน 3-6 เดือน 

 “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์” คาดหวังว่า ก.ล.ต.จะเร่งจัดการคดีความที่ค้างอยู่ในขณะนี้ให้ทยอยเสร็จสิ้นได้ทั้งหมดภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเน้นย้ำทุกเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะเคสคดีใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน จะต้องเร่งรัดกระบวนการไปให้สิ้นสุด ที่ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยเร็ว ไม่ให้เกิดความล่าช้า และคดีค้างอื่นๆ จะทยอยไล่ออกมา

“กระบวนการดำเนินคดีเมื่อเกิดความเห็นระหว่างหน่วยงานไม่ตรงกัน การให้ข้อสังเกต ให้เหตุผลปรากฏ ทำให้การจัดการเรื่องนี้มีความสมดุล เมื่อมีกระบวนการสื่อสารชัดเจน จะช่วยลดข้อขัดแย้งต่างๆ และทำให้เกิดประสิทธิผล ส่วนจะใช้ระยะเวลาแค่ไหน ดังนั้น ต้องมีการสร้างมาตรฐานชี้วัด ถ้าคดีไหนยังค้างต่อก็ต้องมีเหตุผลรองรับ ซึ่งบอร์ดใหัความสำคัญด้านประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งการปฏิบัติเรื่องนี้เป็นความท้าทายของเลขาฯ ก.ล.ต. แต่ในมุมส่วนตัวสามารถให้ไกด์ไลน์ได้”

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการปรับโครงสร้าง ภายในของ ก.ล.ต. และการแก้ไขกฎหมายเพิ่ม เช่น การเพิ่มอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวน รวมถึงมีศูนย์รับแจ้งร้องเรียน ช่วยป้องกัน และยับยั้งเหตุได้ดีขึ้น เป็นต้น

แต่ส่วนตัว มองว่าต้องใช้หลายๆ วิธีการรวมกัน ซึ่งทาง ก.ล.ต. ยังเดินหน้าเตรียมนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์หาหลักฐาน ตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำส่งข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( ตลท.) เพื่อกระบวนการตรวจสอบ ป้องกัน และป้องปรามก่อนเกิดเหตุลุกลามวงกว้าง และลดผลกระทบความเสียหายต่อนักลงทุน และตลาดทุนไทยได้ดีและเร็วมากขึ้น

ก.ล.ต.มุ่งส่งเสริมลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ 

ขณะที่ นโยบายเร่งด่วนที่สอง“ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์” กล่าวว่า ก.ล.ต.จะมุ่งส่งเสริมลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะ “โทเคนดิจิทัล” ประเภทอินเวสท์เมนต์โทเคน (Investment Token) ที่มีระบบเข้าช่วยขยายการระดมทุน เพื่อการลงทุนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น เรื่องคาร์บอนเครดิต ที่อาจส่งเสริมให้มีระบบการสร้างมูลค่า และการซื้อขายในวงกว้างมากขึ้น 

“เรื่องนี้เรามองว่า หาก ก.ล.ต. มีการให้ไลเซนส์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และมีมาตรการต่างๆ ในเชิงส่งเสริม มองว่าตลาดอินเวสท์เมนต์โทเคน ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท”

ท้ายสุด สำหรับเป้าหมาย และความมุ่งหวังตั้งใจของประธาน ก.ล.ต.คนใหม่ อยากจะทำให้ ก.ล.ต.จะมีระบบการป้องกัน ปราบปรามปัญหาก่อนเกิดเหตุได้ทันเวลา แต่กรณีสำหรับปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นให้เร็วเช่นกัน ไม่ให้ปล่อยให้ลามเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเช่นที่ผ่านมา  

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์