จับชีพจร หุ้น SET100 รอบ 7 เดือน ตัวไหนติดลบมากสุด
จับชีพจร หุ้น SET100 รอบ 7 เดือน หุ้น EA ติดลบมากสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 91% ขณะที่อันดับ 2 หุ้น JMT ติดลบ 56% "นักวิเคราะห์" ระบุ ไตรมาส 4/67 ตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื่นตัว คาดดัชนีหุ้นไทยอยู่แถวบริเวณ 1450 - 1500 จุด
ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนตัวมาอยู่ในช่วง 7 เดือนของปี 2567 โดยภาพรวมไม่สดใสเหมือนอย่างที่หวังและตั้งใจ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายมากที่สุด 1.2 แสนล้านบาท จากปัจจัยกดดันทั้งภายนอก และการเมืองในประเทศ และยิ่งในเดือนส.ค.นี้ มีคดีการเมืองที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง ทำให้หลายฝ่ายมองตลาดหุ้นไทยเหมือน “วิกฤตต้มกบ” คือภาวะที่เศรษฐกิจโตช้า ซบเซาลงเรื่อย ๆ ผู้คนเริ่มหมดหวัง การลงทุนในหุ้นไทยไม่น่าสนใจแล้วเมื่อเทียบกับทั่วโลก
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถือว่าค่อนข้าง Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยหลัก ๆ ที่มาจากความไม่แน่นอนด้านการเมือง ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า สะดุดไปในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 ถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นเดือน 7 ไปสัญญาณเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยว มีปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุเกิน 20 ล้านราย และคาดว่าในสิ้นปี 2567 จะได้ตามเป้าที่ 30 ล้านราย
ขณะที่ภาคส่งออก มีสัญญาณของภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการนำเข้าเพื่อการผลิต เริ่มมีตัวเลขนำเข้าที่เป็นบวก ทำให้สะท้อนว่า ภาคเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว
“ทั้งหมดทั้งมวลยังต้องรอความชัดเจนของภาครัฐบาล หากในอนาคตยังเป็นรัฐบาลชุดคล้าย ๆ เดิม และมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล้ายเดิม น่าจะทำให้ที่เหลือของปีน่าจะมีการเร่งตัวขึ้นมา”
โดยมองว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปี 2567 น่าจะสามารถปิดเหนือระดับที่ปัจจุบัน หรือบวกเพิ่มขึ้นไปอีกที่ 150 - 200 จุด หรืออยู่แถวบริเวณ 1450 - 1500 จุด ที่คาดหวังในสิ้นปีนี้
ขณะที่หุ้นในกลุ่ม SET100 มีโอกาส Perform ขึ้นมาได้ หลังจากที่เม็ดเงินกองทุน TESG กำลังจะเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นที่อยู่ใน SET100 จะอยู่ใน SETESG จึงเป็นทาเก็ตหลัก ๆ ของกองทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นได้
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาหุ้นไทย Underperform ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดคือ พื้นฐานกำไรบริษัทจดทะเบ่ียนสอดคล้องกับอินเด็กซ์ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับประมาณการที่ล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยล้าหลังไปด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง และไทยเองยังไม่มีท้าทีต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้สภาพคล่องทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ได้เข้ามาเป็นตัวช่วย
นอกจากนี้ นโยบายการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในช่วง 3-4 เดือนแรกยังคงติดกับดัก พ.ร.บ.งบประมาณที่จะยังไม่สามารถออกมาได้ และมาในช่วงเดือน 5-6 เดือน ก็ล้าช้า
“เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นไทยประสบมรสุมแทบจะทุกด้าน ทั้งพื้นฐาน สภาพคล่อง และนโยบายล้าช้าต่าง ๆ ผนวกกันเข้า จึงทำให้ตลาดหุ้นไทย Underperform”
ขณะที่ในหุ้นกลุ่ม SET100 ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากหุ้นขนาดใหญ่เมื่อโฟลว์ไม่มีเข้ามา ทำให้ภาพหุ้นมีความอึดอัด ส่วนหุ้นเล็กใช่ว่าจะดีเช่นกัน นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศมีการเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น
โดยในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ยังคงต้องดูในเรื่องของพื้นฐานกำไร ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3/67 น่าจะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากยังเป็นช่วงโลซีซั่น ทั้งการบริโภค และการท่องเที่ยว ขณะที่ดิจิทัลวอลเล็ตกว่าจะมาจริง ๆ คาดว่าจะยังไม่ใช่ในไตรมาส 3/67 แต่สภาพคล่องในปลายไตรมาส 3/67 น่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้ จากเฟดที่จะมีการประชุมกันในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ครั้งแรก จึงถือว่า เป็นจุดสตาร์ทที่ดีที่จะได้เห็นการโยกย้ายเงินของต่างชาติมาตลาดอิงเมอร์จิ้งมาร์เก็ตมากขึ้นได้
ส่วนในแง่ของนโยบายการเงินคาดว่า หลังจากที่เฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ในไตรมาส 4/67 น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามลงมาได้สักครั้งหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของนโยบายการคลังกับดิจิทัลวอลเล็ต หากไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะสามารถเห็นได้ในไตรมาส 4/67 นี้ และค่อนข้างมั่นใจว่า ไตรมาส 4/67 จะเป็นช่วงของการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยได้
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้น SET100 ที่ยอดนิยมของนักลงทุนไทย โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มี 10 อันดับแรกที่ติดลบหนักลงทุนถึง 91%
1.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 44.25 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 3.92 บาท
- ราคาหายไป 40.33 บาท ลดลง 91.14%
2.บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) JMT
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 25.50 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 11.20 บาท
- ราคาหายไป 14.30 บาท ลดลง 56.08%
3.บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) RBF
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 14.60 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 7.30 บาท
- ราคาหายไป 7.30 บาท ลดลง 50.00%
4.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) BTS
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 7.25 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 4.34 บาท
- ราคาหายไป 2.91 บาท ลดลง 40.14%
5.บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) SKY
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 26.25 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 15.80 บาท
- ราคาหายไป 10.45 บาท ลดลง 39.81%
6.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) BCPG
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 8.80 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 5.60 บาท
- ราคาหายไป 3.20 บาท ลดลง 36.36%
7.บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) M
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 39.75 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 26.00 บาท
- ราคาหายไป 13.75 บาท ลดลง 34.59%
8.บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) LH
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 8.15 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 5.55 บาท
- ราคาหายไป 2.60 บาท ลดลง 31.90%
9.บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) IVL
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 27.25 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 18.70 บาท
- ราคาหายไป 8.55 บาท ลดลง 31.38%
10.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) AEONTS
- ราคาสิ้นปี 2566 ที่ 160.00 บาท
- ราคา 30 ก.ค.2567 ที่ 110.00 บาท
- ราคาหายไป 50 บาท ลดลง 31.25%