แรงขายหุ้นไทยเกินพื้นฐาน ตลท. จับตา 'ฟันด์โฟลว์'รีเทิร์น
ตลท.รับตลาดหุ้นดิ่งแรงเผชิญความผันผวนสูงขึ้นกระทบหุ้นไทยจนเกิดเทขายเกินพื้นฐาน เชื่อเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น ภาครัฐเตรียมใช้จ่ายเงินลงทุน มาตการ uptick ได้ผลต่างชาติวูบจากวอลุ่มโปรแกรมเทรดและชอร์ตเซลลดลง เตรียมดึง 170 กองทุนร่วมงาน "ไทยแลนด์โฟกัส" 28 ส.ค. นี้
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเดือนก.ค.ปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัย FED ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ,มาตรการ uptick rule และ อนุมัติ TESG ขณะที่ต้นเดือน ส.ค. ตลาดหุ้นโลกมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลทำให้เทขายหุ้นเกินพื้นฐาน
สำหรับตลาดหุ้นไทยปัจจัยสำคัญคือจับตาฟันด์โฟลว์ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจแย่อยู่จะเห็นพัฒนาการดีขึ้น รวมทั้งการจัดการ "ไทยแลนด์โฟกัส " ปีนี้วันที่ 28 ส.ค. มีกองทุนสนใจประมาณ 170 แห่ง แบ่งเป็นต่างชาติ 50 แห่ง และในประเทศ 120 แห่ง ใกล้เคียงกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเข้ามารับฟังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนจากหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
"ต้นเดือนส.ค. Fund Flow เริ่มกลับมาไทยแต่พักที่ตราสารหนี้เฉลี่ยวันละ 20,000 ล้านบาท หากจะโยกลงทุนในไทยคาด Q3-Q4 รอดูผลประกอบการ Q2 และการใช้เม็ดเงินของภาครัฐด้านลงทุน จากที่ผ่านมา 60-70% ใช้สำหรับรายจ่ายประจำเท่านั้น"
โดยเป็นการจัดภายใต้ 4 ธีม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ลดความไม่เท่าเทียม ความผันผวนสูงของราคาหุ้น และป้องกันรายการ naked short ซึ่งมาตรการ uptick มีผลต่อวอลุ่มลดลงและทำให้นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนลดลงที่ 42.65% ก่อนใช้มาตรการ 52.60% ซึ่งมาจากการ short sell ทั้งตลาดลดลงเหลือ 4-6% จาก 8-12% และ โปรแกรมเทรด (AI และ HFT )60% จาก 80%
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ผู้ลงทุนต่างประเทศยังขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยแต่ในปริมาณเริ่มลดลง โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งเดือนท่ามกลางแรงหนุนหลัก จากการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมนำ
โดยเงินเยน การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของผู้ลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการส่งออกและท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการควบคุมการทำ Short Sell ส่งผลให้การทำ Short Sell ลดลง เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติลดลง ทำให้สัดส่วนการซื้อขายโดยผู้ลงทุนในประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการภาษีใหม่สำหรับกองทุน Thai ESG เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดระยะเวลาการถือครอง
ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,320.86 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า แต่ปรับลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและประเมินผลกระทบจากมาตรการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนที่เพิ่งประกาศใช้ในเดือนกรกฎาคม 2567
ในเดือนกรกฎาคม 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มบริการ
7 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 44,162 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 117,559 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 27
ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ฟู้ดโมเม้นท์ (FM) และ บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี (CHAO) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ไนซ์ คอล (NCP)
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.1 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.53% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.17%
และภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 379,777 สัญญา ลดลง 30.3% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 436,537 สัญญา ลดลง 20.1% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures