9 หุ้น ชิ้นส่วนอิเล็กฯ ใครแกร่งสุด หลังสงครามเทคโนโลยีรุนแรง
9 หุ้น ชิ้นส่วนอิเล็กฯ สู้ศึกสงครามเทคโนโลยีรุนแรง หุ้น CCET แกร่งสุดในกลุ่ม ผลตอบแทนราคา YTD +50.96% ขณะที่ NEX ผลตอบแทนราคา YTD ลบหนักสุด 93.80%
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ส่งผลเผชิญภาวะการเทขายอย่างหนัก ทำให้หุ้นส่วนใหญ่ปรับราคาลงต่อเนื่อง และแม้จะกระเตื้องขึ้นในบางเซ็กเตอร์ แต่ทว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความชัดเจนการเมืองในประเทศ และต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและสงครามเทคโนโลยีที่มีท่าทีรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกยังไม่มีความชัดเจนมากนัก รวมไปถึงหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่โดนกดดันไปด้วย
ล่าสุดดัชนีดาวโจนส์ปิดลบในวันพุธที่ 7 ส.ค.67 ที่ 38,763.45 จุด ลดลง 234.21 จุด หรือ -0.60%, ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,199.50 จุด ลดลง 40.53 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,195.81 จุด ลดลง 171.05 จุด หรือ -1.05% โดยตลาดถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.968% หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐได้เปิดประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปี วงเงิน 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความผันผวนมาก ๆ หลักมาจากความกังวลในการขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อไปคืนเงินกู้สกุลเงินเยน หรือ แคร์รี่เทรดเยน รวมถึงความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งสหรัฐ ทำให้ 2 เรื่องนี้กดดันตลาด
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่า แคร์รี่เทรดเยน จบแล้วหรือยังจะต้องใช้ระยะเวลาถึงเมื่อไร เนื่องจากไม่มีใครทราบได้ว่า การแคร์รี่เทรดอยู่ที่ประมาณเท่าไร และยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป ขณะเดียวกันประเด็น แคร์รี่เทรดตลาดได้รับการสื่อสารมานานพอสมควร เนื่องจากว่า หากย้อนกลับไปธนาตารกลางญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินตั้งแต่ปีที่แล้ว จนกระทั่งปีมาเปลี่ยนในช่วงเดือนก.ค.2567 จึงทำให้ตลาดตกใจกับท่าทีที่มีความแข็งกร้าว แต่ถ้ามองในการสื่อสารช่วงระยะเวลา 1 ปี หากเป็นนักลงทุนสถาบันจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนไประดับหนึ่งแล้วได้
ขณะเดียวกันในฝั่งของตลาดหุ้นสหรัฐสิ่งที่ทำได้อาจจะมีการปรับพอร์ต ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่ และถ้าเกิดจะแรงแค่ไหน โดยวิธีการที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ จะเห็นว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขายหุ้น Apple เพื่อให้พอร์ตมีความปลอดภัยมากขึ้น ในขณะที่ Valuation สูง หุ้นมีการเติบโตน้อยออกไป
ดังนั้นนักลงทุนสามารถดูในพอร์ตของตัวเองได้ว่า หากมี Valuation สูง การเติบโตที่ไม่ได้เยอะ หุ้นเหล่านั้นจะโดนแรงกดดันได้มาก ในขณะที่นักลงทุนยังไม่แน่ใจตรงนี้เงินที่จะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นยังคงมีความลังเลอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเงินไหลเข้าไปในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารหนี้ และไม่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ืยจะต้องเกิดขึ้น และเนื่องไปในปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ หุ้นที่ิอิงกับภาพเศรษฐกิจโลกนักลงทุนยังคงต้องติดตามไม่ว่าหุ้นพลังงาน หรือหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะมีผลกระทบ มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างมาก ดังนั้นกลุ่มดังกล่าวอาจจะไม่ค่อย perfrom ได้ในช่วงนี้
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความผันผวนอยู่ เนื่องจาก Valuation ยังคงมีความผันผวน ซึ่งแม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมา แต่เป็นการผ่อนคลายแค่ชั่วคราว หลังจากที่ภาคบริการของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ออกมาค่อนข้างดี แต่เชื่อว่าในช่วงนี้ยังคงต้องติดตามหลาย ๆ ปัจจัย
โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรของสหรัฐ หากแย่ต่อเนื่องจะเป็นการยืนยันภาพเศรษฐกิจถดถอย แต่ทว่าตัวเลขเดือนก.ค.67 หลายฝ่ายมองว่า อาจจมีตัวเลขที่ผิดเพี้ยนจากเหตุการณ์ชั่วคราวของพายุ ทำให้เพิ่มขึ้นและไม่ใช่ของจริง รวมถึงเงินเฟ้อสหรัฐที่จะออกมาในช่วงสัปดาห์หน้า หากมีการขยายตัวเพียงแค่ 0.3% MoM ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงได้อีก ส่วน แคร์รี่เทรดเยน ซึ่งถือว่าเพิ่งเริ่ม ส่งผลให้ต้องติดตามต่อขณะที่หุ้นไทย ยังคงต้องจับตาในช่วงสัปดาห์ ที่จะมีการพิจารณาตัดสินคดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นสหรัฐที่มีการปรับตัวลงมา โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่มีแรงเทขายออกมามาก ส่งผลให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บ้านเราปรับตัวลงมาด้วยเช่นกัน แต่โดยภาพรวมหุ้นกลุ่มดังกล่าว Earning เริ่มดี โดยราคาหุ้นเริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง ทำให้ Valuation สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ทว่ายังไม่ใช่จังหวะที่น่าสนใจจะเข้าไปซื้อได้ เพราะยังแพงอยู่ทั้งของไทยและสหรัฐ
แม้ว่าหุ้น DELTA จะเป็นหุ้นหลักในกลุ่มดังกล่าวที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่ทว่ายังคงยังคงแนะนำหุ้น KCE ที่มีการควบคุมค่าใช้จ่าย และมีกำลังการผลิตที่จะเข้ามา และ HANA ยังคงลุ้นธุรกิจ GMS ธุรกิจที่ไต้หวัน หากมีการทำให้กำลังการผลิตออกมามีความสูญเสียน้อย จะส่งผลให้ครึ่งปีหลังมีอนาคตมากขึ้น
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 9 หลักทรัพย์ ว่ามีหลักทรัพย์ใดบ้างที่สามารถฝ่ามรสุมสงครามเทคโนโลยีนำราคาเป็นบวกขึ้นมาได้
1.บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET
- มาร์เก็ตแคป 32,813.01 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD +50.96%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -17.37%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.10%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 4.52 / 1.47 บาท
- CCET วางแผนที่จะเปิดศูนย์ Refurbishment center เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าหลักในรูปแบบการให้บริการครบวงจร ซึ่งเราประเมินว่าการจัดตั้งศูนย์ Refurbishment center นี้จะเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าหลักในระยะยาว
2.บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
- มาร์เก็ตแคป 1,206,841.71 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD +9.94%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -2.76%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.47%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 116.00 / 63.25 บาท
- การขายผลิตภัณฑ์ power supply ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่พัฒนาโดย DELTA Thailand เอง ซึ่งจะทําให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่า technical fee ให้กับทาง DELTA Taiwan
3.บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI
- มาร์เก็ตแคป 15,718.43 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD +4.29%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -11.52%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.85%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 9.30 / 5.95 บาท
- ลูกค้าของ SVI ทำการผลิตในระดับ mass production ซึ่งจะช่วยหนุนในครึ่งหลังปีหลัง โดยบริษัทคาดว่าลูกค้าใหม่จะเริ่มผลิตแบบ mass production ซึ่งจะมีมูลค่ายอดขายประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2567 นี้
4.บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA
- มาร์เก็ตแคป 35,857.35 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -23.94%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -13.83%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.47%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 66.25 / 35.25 บาท
- HANA มีสัดส่วนรายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ telecom 24% ของรายได้ อยู่ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกันกับลูกค้าของ TSMC ที่มีลูกค้าเป็น META AAPLGOOGL NVDIA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาชิประดับสูง
5.บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM
- มาร์เก็ตแคป 2,484.55 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -26.42%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -5.80%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 5.90%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 6.85 / 3.52 บาท
6.บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE
- มาร์เก็ตแคป 47,283.54 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -27.27%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -10.61%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.25%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 57.50 / 36.50 บาท
- KCE เปิดโรงงานใหม่ที่โรจนะจะสอดคล้องไปกับการรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเสร็จในต้นปี 2569
7.บริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ METCO
- มาร์เก็ตแคป 3,364.59 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -33.20%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -3.59%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 6.21%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 250.00 / 159.50 บาท
8.บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT
- มาร์เก็ตแคป 1,496.68 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -52.16%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -15.71%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.98%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 5.60 / 1.77 บาท
- SMT การออกสินค้าใหม่ EV Charger Controller และกลุ่ม Audio Backplate
9.บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX
- มาร์เก็ตแคป 1,253.53 ล้านบาท
- ผลตอบแทนราคา YTD -93.80%
- ผลตอบแทนราคา 5 วัน -26.19%
- อัตราเงินปันผลตอบแทน -%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 14.20 / 0.61 บาท
- ก่อนหน้านี้การส่งมอบรถ EV ของ NEX ต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ