TKN กำไร Q2/67 เพิ่ม 37.5 % ปันผลระหว่างกาล 0.30 บาท ย้ำเป้าปี 67 โต 10%
"เถ้าแก่น้อย" กำไร Q2/67 อยู่ที่ 268.1 ล้าน โต 37.5 % บริหารรายได้ด้วยการเน้นสินค้ากำไรสูง สู้ศึกต้นทุนสาหร่ายแพง มองครึ่งปีหลังทั้งไทยและตลาดจีนเศรษฐกิจชะลอ แต่ยังมั่นใจผลงานดีต่อเนื่อง ปี 67 รายได้โต 10% ขณะที่บอร์ดประกาศปันผลระหว่างกาล 0.30 บาท ขึ้น XD วันที่ 27 ส.ค. 67
นายจิระพงษ์ สันติภิรมย์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) (TKN) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เท่ากับ 268.14 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ทำได้ 194.96 ล้านบาท
รวม 6 เดือนแรกปี 2567 เท่ากับ 562.58 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 360.97 ล้านบาท
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการระบุว่า มีผลกำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 จำนวน 268.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของรายได้จากการขาย เติบโตขึ้นร้อยละ 37.5 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เกิดจากปัจจัยหลายๆส่วนรวมกันดังนี้
• การบริหารรายได้ด้วยการเพิ่มรายได้ของสินค้าที่มีกำไรดี (portfolio mix) ให้เติบโตมากกว่าสินค้าอื่น รวมถึงการปรับราคาขายบางส่วนของบางประเทศเมื่อปลายปี 2566
• ผลกระทบเชิงบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มมากขึ้ นจากอัตราแลกเปลี่ยน
• กลยุทธ์ GO FIRM ในการควบคุมค่าใช้จ่ายในทุกฝ่ายงาน ทั้งในโรงงานและออฟฟิศ ทำให้บริษัทสามารถรักษาสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อยอดขายให้คงที่
• การบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์บางชนิดที่มีราคาลดลงเนื่องจากการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)ที่เป็นผลมาจากจากการเติบโตของยอดขาย และการบริหารการจัดซื้อ
สำหรับแนวโน้มและความท้าทายของธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงมีผลเชิงลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ ทั้งประเทศไทยและประเทศจีนที่เป็นยอดขายหลักของบริษัท
และด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลายๆ อย่างที่อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบกับธุรกิจในปีนี้ บริษัทจึงมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการเติบโตในปีนี้ให้มีความยึดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้ตอบรับกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว มีเป้าหมายในการบริหารการเดิบโตธุรกิจในครึ่งปีหลังดังนี้
1. มุ่งเน้นการเติบโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลังด้วยอัตราการเติบโตที่ร้อยละ10 เพื่อให้ปี 2567 โดยรวมมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2566
2. แม้ว่าต้นทุนสาหร่ายจะสูงขึ้นในปีนี้ แต่บริษัทได้นำเข้าสาหร่ายอย่างเพียงพอต่ออุปสงค์และยอดขายที่ประมาณการในปีนี้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขายตาม demand ที่มีอยู่และมุ่งเน้นการบริหารจัดการยอดชาย (Revenue Management) ด้วยการบริหารสินค้าและช่องทางการขายที่มีกำไรดี (Product Mix and Channel Mix) ให้มีประสิทธิภาพ
3. มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตของยอดชายในช่องทางต่างประเทศ ในประเทศใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง และปรับสมดุลของประเทศจีนที่อาจจะเติบโตเล็กน้อย ด้วยเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวและมีความผันผวน
4. การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย GO FRM ด้วยการปรับกระบวนการผลิตและนำเครื่องจักรมาช่วยให้ผลผลิตออกมกมาดีขึ้น และลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้บริษัทมีต้นทุนที่ดีสามารถแข่งขันได้
5. การเติบโตของยอดขาย การเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรชั้นต้น และการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆได้ดี จะช่วยให้บริษัทรักษาระดับการทำกำไรในปี 2567 ได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของต้นทุนสาหร่ายที่สูงขึ้นอย่างมีนัยในปีนี้ เป็นผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ดังนั้นบริษัทยังคงมุ่งเน้นการสร้างพื้นฐานการดำเนินงานต่างๆ ที่ดีต่อไปและด้วยบุคคลากรที่มีความสามารถของบริษัทและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดซึ่งจะส่งผลในระยะยาวให้กับบริษัทเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติด้วยการเติบโตและการทำกำไรที่ดีอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 คณะกรรมการบริษัทยังมีมติจ่ายปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ 0.30 บาทต่อหุ้น จากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567
กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 28 ส.ค. 2567 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 27 ส.ค. 2567 และวันที่จ่ายปันผล 11 ก.ย. 2567