หุ้น ANAN พุ่ง 10.29% กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบ แอชตัน อโศก ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้

หุ้น ANAN พุ่ง 10.29% กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบ แอชตัน อโศก ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้

หุ้น ANAN พุ่ง 10.29% กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบ แอชตัน อโศก ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ "นักวิเคราะห์" ระบุ ภาพธุรกิจที่มีการแก้ไขปัญหาได้ โอกาสจะเทินอะราวน์ได้จะอยู่ประมาณครึ่งหลังของปีหน้า

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 27 ส.ค.2567 หุุ้น ANAN หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บวก 10.29% หรือราคาเพิ่ม 0.07 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 0.75 บาท หลังจากที่กฤษฎีกาตีความชี้ไม่ต้องทุบตึกแอชตันอโศกและสามารถกลับไปขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้
 

หุ้น ANAN พุ่ง 10.29% กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบ แอชตัน อโศก ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ANAN ยังคง Overhang กับกรณีที่กฤษฎีกาตีความชี้ไม่ต้องทุบตึกแอชตันอโศกและสามารถกลับไปขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ โดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และนำเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการปลดล็อกระยะสั้น และหากครม. มีการอนุมัติให้ก่อสร้างใหม่ ก็จะถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย

"ดังน้ันในภาพรวม ANAN ไม่ต้องทุบตึกแอชตัน อโศก คาดว่าจะสามารถจบลงได้เร็วสุดในไตรมาส 3/67 นี้ ช้าสุดไม่เกินต้น ไตรมาส 4/67"

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถเก็งกำไรได้ เนื่องจากว่าความเสี่ยงเรื่องดังกล่าวได้คลายลง และหลังจากนี้ไป ANAN จะค่อย ๆ ระบายสต็อกได้ ขณะที่แผนหุ้นกู้ในระยะถัดไปไม่น่าจะมีปัญหา

อย่างไรก็ดี ภาพธุรกิจที่มีการแก้ไขปัญหาได้ โอกาสจะเทินอะราวน์ได้จะอยู่ประมาณครึ่งหลังของปีหน้า แม้ว่าเอินนิ่งจะฟื้นได้ในหลังของปีหน้า นักลงทุนต้องมองไปในระยะยาว ๆ หรือรอบนี้อาจจะเล่นเก็งกำไรไปก่อน 

ส่วนกรอบในการเทรดดิ้งกรอบราคาปัจจุบันอยู่ที่ 0.75 บาท แนวต้านอยู่ที่ 0.77 บาท หากผ่านได้จะอยู่ที่ 0.85 บาท แนวรับที่ไม่ควรย่อหลุด 0.66 บาท   

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณี แอชตัน อโศก  ถือว่า จบแล้ว เพราะเริ่มกระบวนการแก้ไขเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่รฟม. นำเข้าครม.ใหม่และขอใบอนุญาตเข้าไปใหม่แล้วกทม.ก็อนุมัติก็จบแล้ว คาดว่าภายในปีนี้น่าจะจบ  เพราะมีความเห็นจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาออกมารองรับแล้ว 

โดยก่อนหน้านี้ (วานนี้ 26 ส.ค.2567)ได้มีรายงานข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา ว่า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้เผยความคืบหน้าการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีโครงการแอชตัน อโศกว่า ตามที่ กทม.ได้มีหนังสือ ที่ กท.0907/1333 ลงวันที่ 10 เม.ย.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับมาแล้ว สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.เรื่องการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง กทม.จะต้องออกใบใหม่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนถือว่าคำสั่งออกใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง ทำให้การโครงการแอชตันฯ ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาต กทม.มีหน้าที่ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ให้เอกชนยื่นคำขอใหม่อีกครั้งโดยให้มีผลย้อนหลังได้ ไม่ต้องรื้อหรือทุบ

2.การใช้อำนาจในการออกคำสั่ง ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดําเนินการ ระงับการกระทําดังกล่าว หรือห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารแล้วแต่ละกรณี เห็นว่า กทม.ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งทำพร้อมกันในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจตามความเหมาะสม และการออกคำสั่งเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องกับเจ้าอาคาร ได้แก่ เจ้าของห้องในอาคารชุดทุกห้อง และนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขอาคาร

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้โครงการแอชตันฯ ใช้พื้นที่ตั้งสำนักงาน ถือว่าผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน ภายหลังได้มีการรื้อถอนและใช้เป็นลานจอดรถของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป โดยเสียค่าบริการตามที่ รฟม. กำหนด รวมทั้งสามารถใช้ทางเข้าออกกว้าง 13 เมตร ถือว่า ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปไม่กระทบวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน ส่วนกรณี รฟม.รับค่าทดแทนจำนวน 97,671,707.45 บาท โดยเอกชนก่อสร้างอาคารจอดรถให้นั้น พบว่า รฟม.ไม่ได้เสนอ ครม.เห็นชอบเนื่องจากวงเงินเกิน 90 ล้านบาท อาจขอให้ ครม.เห็นชอบภายหลังได้

สำหรับขั้นตอนต่อไปคณะทำงานฯ โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา สำนักงานเขตวัฒนา และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยยึดแนวทางที่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป