กลไกคุ้มครองเงินลงทุนต้นเหตุความเชื่อ "วายุภักษ์ไม่มีวันขาดทุน"

กลไกคุ้มครองเงินลงทุนต้นเหตุความเชื่อ "วายุภักษ์ไม่มีวันขาดทุน"

กลไกคุ้มครองเงินลงทุน และการกำหนดอัตราผลตอบแทนในช่วง 3-9% สำหรับนักลงทุนรายย่อยซึ่งลงทุนได้เฉพาะหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เท่านั้น ทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า "กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง" ซื้อแล้วจะไม่มีวันขาดทุนหากถือครอบครบระยะเวลาเงื่อนไข 10 ปี

ในความน่าจะเป็นกองทุนใดก็ตามย่อมมีโอกาสขาดทุนได้ถึงจะกล่าวอ้างว่ามีการรับประกันเงินต้น  ทว่าด้วยกลไกบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบย่อมทำให้โอกาสขาดทุนมีน้อยที่สุดจนผู้ลงทุนสามารถเชื่อใจได้ 99.99%

หลักการโดยทั่วไปง่ายๆ หากมีเงินลงทุนสักก้อนให้นำทั้งก้อนไปฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ย แล้วนำดอกเบี้ยส่วนนี้ไปลงทุนต่อโดยไม่แตะต้องเงินต้นเลย เท่านี้เงินต้นก็จะอยู่ครบ เว้นแต่ธนาคารเจ๊งฉับพลัน ซึ่งก็อาจลดความเสี่ยงนี้ได้อีกโดยกระจายฝากหลายแหล่ง หรือหาผู้รับประกันช่วงอีกทีก็ได้ แต่ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำของวิธีการนี้ผลตอบแทนที่ได้ย่อมไม่จูงใจนักหากเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากกว่า

สำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง (Vayupak Fund 1) ก็มีการจัดการความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ลงทุนเช่นกันด้วยวิธีการที่ต่างออกไปจากหลักการข้างต้น

ความที่ได้ชื่อว่าเป็นกองทุนที่จัดตั้งจากนโยบายภาครัฐบาล มีการประกาศการันตีผลตอบแทนต่อปี รวมถึงมีหลายแหล่งข้อมูลให้การประชาสัมพันธ์แบบกระชับ จึงทำให้บางคนเผลอเข้าใจเสียสนิทว่า กองทุนวายุภักษ์จะไม่มีวันขาดทุนซึ่งเป็นเพียงความคาดหวังที่มีหลักการและมีเหตุมีผลรองรับเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นจากข้อความบางท่อนปรากฏตามสื่อที่ระบุว่า “กองทุนมีกลไกในการคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.” และ “กรณีถือหน่วยลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นจนครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี ได้รับเงินลงทุนคืน 10 บาท” สองประการนี้ ทำให้นักลงทุนหลายรายเข้าใจคลาดเคลื่อน 

ในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มมีการอธิบายเงื่อนไขโดยละเอียดไว้ว่า หาก NAV กองทุนรวมต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ผู้ถือหน่วยที่ลงทุนยาวครบตามเงื่อนไขก็อาจได้รับเงินต้นคืนน้อยกว่า 10 บาทได้

กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่งมีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง โดยอยู่ระดับความเสี่ยงที่ 5 (ต่ำสุดคือระดับ 1 สูงสุดคือ ระดับ 8) ทว่าการใช้วิธีแบ่งประเภท ก. กับประเภท ข. ทำให้ความเสี่ยงสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยแทบจะหายไปสิ้น

อธิบายโดยรวบรัดผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภท ก. คือส่วนของนักลงทุนทั่วไป และประเภท ข. คือ ส่วนของกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ

กลไกที่กองทุนวายุภักษ์หนึ่งออกแบบมาให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้เฉพาะประเภท ก. นี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ โดยไม่ว่าสถานการณ์ในแต่ละปีจะบวกหรือติดลบก็ตาม ก็ยังเหลือเงินในส่วนผู้ลงทุนประเภท ข. ที่จะโยกมาตอบแทนปันผลตามนโยบาย 3-9% ในระยะ 10 ปีแรกตามเงื่อนไขได้

การบริหารความเสี่ยงใช้อัตราส่วน Asset Coverage Ratio กําหนด เช่น กรณี Asset Coverage Ratio ตํ่ากว่าอัตรา 2.0 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันทําการ จะเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสํารองเพื่อการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

กรณี Asset Coverage Ratio ลดลงตํ่ากว่าอัตรา 1.5 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันทําการ บริษัทจัดการจะใช้ดุลยพินิจ 1. เปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ภายในระยะเวลา 90 วัน และเก็บไว้เป็นเงินสํารอง หรือ 2. รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.

อีกทั้งผู้ถือหน่วยประเภท ก. ที่ถือครองครบ 10 ปีตามเงื่อนไขก็ยังอุ่นใจได้ว่า กองทุนน่าจะพอจัดสรรเงินต้นมาคืนได้ต่อให้การลงทุนของกองทุนขาดทุนต่อเนื่องก็ตาม เว้นแต่ ระดับ NAV ณ วันครบกำหนด ต่ำกว่ามูลค่าเริ่มต้นของหน่วย หรืออีกในกรณีที่จะเสี่ยงขาดทุนคือนักลงทุนเลือกขายเองในตลาดหุ้น

แน่นอนว่าถ้าขายได้ราคาใดก็ต้องรับสภาพ ณ ราคานั้น

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกัน และไม่ใช่การค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

“ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุน ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้นต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้”

นอกจากนี้ในเอกสารหนังสือชี้ชวนระบุว่า กองทุนมีนโยบายการกระจายความเสี่ยง เลือกหลากหลายประเภทสินทรัพย์ลงทุนตามสัดส่วนดังนี้ หุ้นสามัญ 88.36% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ,พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.01%, ตั๋วเงินคลัง 1.48%, เงินฝากธนาคาร 1.07%, หุ้นกู้ 0.62%, สินทรัพย์และหนี้สินอื่นๆ 0.45%, หน่วยลงทุนตราสารทุน 0.32%, พันธบัตรรัฐบาล 0.27%, หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 0.18%, ตั๋วแลกเงิน 0.16%, หุ้นบุริมสิทธิ 0.05% และ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.02%

ทั้งนี้ในส่วนของการลงทุนหลักคือหุ้นสามัญก็ยังเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่าซึ่งทำให้อุ่นใจเพิ่มอีกชั้นว่า ผลตอบแทนจะไม่ผันผวนจนเกินไป 

นโยบายการลงทุนยังกำหนดลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกด้วย รวมถึงหลักทรัพย์อื่น อาทิ หลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยจะมีสัดส่วนการลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity

สำรวจผลตอบแทนเฉลี่ยที่ผ่านมานับแต่ปี 2546 ที่เริ่มจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง (ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.) ทำได้ 3.38% ส่วนเฉพาะปี 2567 นี้ต้นปีถึงสิ้น ส.ค. ทำได้ 1.87% สูงกว่าผลตอบแทนอ้างอิง (Benchmark) 

กลไกคุ้มครองเงินลงทุนต้นเหตุความเชื่อ \"วายุภักษ์ไม่มีวันขาดทุน\"

อีกทั้งกองทุนมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 กองทุน มีกำไรสะสมประมาณ 142,739 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีนักลงทุนต้องตระหนักเสมอว่า ผลตอบแทนการลงทุนในอดีตมิได้การันตีอนาคตเสมอไป เช่นเดียวกับกองทุนใดๆ ที่ออกแบบกลไกป้องกันความเสี่ยงได้ดีสักแค่ไหนก็ยากไว้วางใจได้ตลอดไปว่าจะไม่มีวันขาดทุน