หุ้นยางพารารุกตลาด EUDR โบรกมองไทยศักยภาพที่ 1 ของโลก

หุ้นยางพารารุกตลาด EUDR โบรกมองไทยศักยภาพที่ 1 ของโลก

บจ. ผู้ประกอบการธุรกิจยางปรับตัวรับมาตรฐาน EUDR ฉวยเป็นจังหวะรุกต่างประเทศ "NER" เริ่มส่งออกล็อตแรกให้คู่ค้าจีนแล้ว ชี้มาร์จินดีกว่าสินค้าปกติ "STA" และ "TEGH" วางเป้าขยายสัดส่วนขายเป็น 80% ด้าน "บล.ฟิลลิป" มองไทยพร้อมที่สุด ให้นำหนักหุ้นอุตสาหกรรมยางมากกว่าตลาด

การที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดมาตรฐาน EU Deforestation Regulation (EUDR) ซึ่งคู่ค้าทางธุรกิจจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องและวิเคราะห์สถานะความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิตของตนจนถึงแหล่งกำเนิดเพื่อพิสูจน์ที่มาที่ไปได้ เพื่อควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า 

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของยางพาราก็เป็น 1 ในสินค้าที่เข้าข่ายด้วย แม้จะส่งผลตรงให้ผู้ประกอบการยางพาราส่งออกของไทยในภาพรวมต้องปรับตัวพร้อมกับมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตยางที่มีมาตรฐานดีอยู่แล้ว ขยายฐานตลาดเพิ่มในจังหวะที่คู่แข่งยังไม่มีความพร้อมหลังจากมาตรฐานเริ่มบังคับตั้งแต่ปี 2566 และคาดจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2567

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ทำธุรกิจยางพารา มีหลายรายที่ปรับตัวผ่านมาตรฐาน EUDR และมีกลยุทธ์อันชัดเจนที่จะเพิ่มยอดขายในต่างประเทศ

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) (NER) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาส 3/2567 บริษัทจะมีการส่งออกยาง EUDR ล็อตแรกให้บริษัทยางสัญชาติจีน ประมาณ 3,000 ตัน และส่งออกมากขึ้นในไตรมาส 4/2567

โดยปัจจุบันบริษัทมุ่งหน้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าสัญชาติจีน บวกกับก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับลูกค้าสัญชาติจีนไปแล้ว ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ส่วนใหญ่การส่งมอบจะเป็นล็อตเล็กประมาณ 2,000-3,000 ตันต่อเดือน 

คาดระยะเริ่มแรกภายในปี 2567 จะส่งออกยาง EUDR ได้ใกล้เคียงประมาณ 45,000 ตัน และจะเติบโตมากขึ้นในปี 2568 ทั้งนี้ราคาขายยางมาตรฐาน EUDR ที่ดี และจะมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง น่าจะเข้ามาช่วยเสริมนอกเหนือจากการขายยางพาราปกติได้พอควรในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 อีกด้วย

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนเพิ่มปริมาณการขายยาง EUDR โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขายยาง EUDR ต่อเดือนเป็น 50% ภายในสิ้นปี 2567 

และเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนขายยาง EUDR ประมาณ 10% ของปริมาณการขายยางธรรมชาติในเดือนดังกล่าว 

ภาพรวมอุตสาหกรรมยาง EUDR คาดมีความต้องการยางธรรมชาติจากยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของดีมานด์ทั่วโลก ปัจจุบันประเทศที่มีความพร้อมผลิตยาง EUDR คาดมีเพียงไทย, โกตดิวัวร์ และอินโดนีเซีย

นางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TEGH) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายการส่งออกยาง EUDR ทั้งปี 2567 ที่ 1 แสนตัน และปี 2568 ที่ 2.5 แสนตัน ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วน 80% ของยอดขายสินค้ายางแท่งทั้งหมดของบริษัท โดยเริ่มมีการส่งออกจำนวนมากตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 นี้แล้ว

ยาง EUDR ให้อัตรากำไรมากกว่ายางปกติ และในอนาคตมาตรฐานนี้จะใช้กันทั่วโลกซึ่งถ้าผู้ผลิตยางพารารายใดทำตามมาตรฐานไม่ได้ ก็จะหาตลาดยากขึ้นหรืออาจต้องขายในตลาดราคาต่ำกว่ามาตรฐาน

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า EUDR เป็นโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมยางในไทย

ดีมานด์ยางจากยุโรปคิดเป็น 30% ของดีมานด์ยางทั่วโลก (ราว 4 ล้านตันต่อปี) ที่กำลังจะปรับใช้กฏ EUDR ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดคือไทย มีความสามารถพัฒนาซัพพลายยาง EUDR ได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยการผลักดันของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะทำให้ดีมานด์จาก EUDR จะเข้ามาในไทยเป็นหลัก

หากมีการปรับใช้กฎ EUDR จะทำให้เกิด Supply Shortage ในส่วนนี้เกิดขึ้นไทยมีผลผลิตราว 5 ล้านตันต่อปี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ไทยขายยางให้จีนเป็นหลัก จะถูกเปลี่ยนมาเป็นขายให้ยุโรปเพิ่มมากขึ้นเป็นการยกระดับอุตฯยางในไทย และผู้ประกอบการยางในไทยจะมีกำไรเพิ่มมากขึ้น 

ข้อดีของ EUDR คือการซื้อขายแบบ Cost Plus อิงราคายางในประเทศทำให้ลดความผันผวนจากการซื้อขายอิงราคายางในตลาดโลก และลดความผันผวนจากค่าเงิน

ฝ่ายวิเคราะห์มอง STA เป็นผู้ซัพพลายยางอันดับ 1 ของโลก ได้เปรียบกว่าผู้ผลิตรายเล็กในเรื่องความพร้อมและมาตรฐานของระบบข้อมูลเพื่อรองรับการตรวจสอบของ EUDR และมีการค้ากับผู้ประกอบการล้อยางระดับโลกจากยุโรปอยู่แล้ว ทำให้บริษัทฯมีความสามารถสูงเป็นลำดับต้นๆ ในการรองรับรูปแบบของ EUDR ได้เร็ว มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว 

และภาพของอุตสาหกรรมถุงมือยางกลับมามีดีมานด์เพิ่มขึ้น รวมถึงสหรัฐอเมริกาจะปรับภาษีนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ในปี 2569 ซึ่งคู่แข่งอย่างจีนและมาเลเซียโดนปรับเพิ่มมากกว่าไทยจะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันถุงมือยางสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้นแนะนำการลงทุนในอุตสาหกรรมยาง “ลงทุนมากกว่าตลาด”