THG รายงาน ตลท. เพื่อความโปร่งใสหลังพบพิรุธปล่อยกู้-สั่งซื้อล่องหน 210 ล้าน
"ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป" เผยตรวจพบรายการอันควรสงสัยจากบริษัทย่อยคือ รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง และ บ. ที เอช เฮลท์ กรณีกู้ยืมเงินพัวพันครอบครัววนาสิน ในฐานะผถห.ใหญ่ บ.ราชธานีพัฒนาการ (2014) และการสั่งสินค้าที่ไม่มีการส่งมอบ ล่าสุดจี้บัญชีเร่งสอบ จ่อรายงานผลกระทบในงบ Q3/67
นางสาวณัฐธกานต์ จิตติณพัฒน์ เลขานุการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทการตรวจพบรายการอันควรสงสัยดังนี้
1. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
(ก) บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 83.03 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THB
(ข) บริษัท ที เอซ เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 51.22 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THH
2. การทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยดังกล่าวประกอบด้วย
(ก) การที่ THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มครอบครัว "วนาสิน" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในเดือนธันวาคมปี 2565 ถึงปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 145 ล้านบาท
(ข) การที่ THB ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
(ค) การที่ THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท
3. การข้าทำรายการอันควรสงสัยตามข้อ 2 ข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อยซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อย
ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท
4. ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย)
5. บริษัทได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีของบริษัททราบถึงรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และบริษัทขอให้ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยดังกล่าว โดยบริษัทคาดว่า หากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยผลกระทบทางการเงินนี้ได้ในงบการเงินรวมของไตรมาสที่สามที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
6. บริษัทได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบเพื่อรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการดังนี้
6.1 บริษัทได้โยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยทันที
6.2 บริษัทได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น
6.3 บริษัทได้เน้นย้ำและกำชับให้บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมาย อย่างเด็ดขาด
6.4 บริษัทอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การวิเคราะห์ดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทอาจพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม
7. คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการรายงานการเกิดขึ้นของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้นทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์
โดยบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าที่เป็นสาระสำคัญเป็นประการใด บริษัทจะรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยทันที