Neta Auto สารภาพแข่งขันดุเดือด กูรูฟันธงสุดท้ายเหลือรอดแค่ 5 แบรนด์
ท่ามกลางสงครามราคาดุเดือดและการแข่งขันที่รุนแรงในประเทศ Neta Auto เร่งขยายตลาดต่างประเทศ หวังรอดพ้นคำทำนายว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนจะเหลือเพียง 5 รายในอนาคตอันใกล้
สำนักข่าวนิกเคอิรายงานวันนี้ (25 ก.ย.) Neta Auto ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนกำลังเร่งขยายการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในประเทศและอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจนไม่มั่นใจว่าบริษัทจะอยู่ได้อีกกี่ปี
"ผมไม่ได้กำลังอวดว่า Neta Auto จะอยู่รอดแน่นอนในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า" ฟาง หยุนโจว ประธานบริษัทกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิคเคอิ เอเชียเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเผยให้เห็นถึงสภาวะที่ยากลำบากในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เขาให้คำมั่นว่าจะมุ่งมั่นต่อไปใน "ค่านิยมหลัก 3 ประการ" ได้แก่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การบริการลูกค้า และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
นักวิเคราะห์และผู้บริหารอาวุโสบางรายในอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners จากสหรัฐ ประมาณการเมื่อเดือนก.ค.ว่า จากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า 137 แห่งที่จีนมีในปี 2566 จะมีเพียง 19 แห่งเท่านั้นที่จะสามารถทำกำไรได้ภายในปี 2573 ส่วนที่เหลือจะถูกบังคับให้ปิดกิจการ ควบรวมกิจการ หรือต่อสู้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่เล็กน้อย
ในการคาดการณ์ที่น่าหดหู่ยิ่งกว่านั้น หยิน ถงเยว่ ประธานบริษัท Chery Automobile และ หยู เฉิงตง ซีอีโอของ Huawei กล่าวว่าจะเหลือแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพียงประมาณ 5 แบรนด์เท่านั้นในอนาคตอันใกล้
ในปัจจุบัน มีเพียงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนไม่กี่รายเท่านั้น เช่น BYD และ Li Auto ที่สามารถทำกำไรได้
อย่างไรก็ตาม ฟางยืนยันว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะอยู่ในขาลงอย่างเดียว "ในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Markets) ซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการผูกขาด" เขากล่าวกับนิคเคอิ เอเชีย พร้อมเสริมว่า
"การทำได้ดีในช่วงหนึ่งไม่ได้รับประกันความสำเร็จในช่วงต่อไป และการทำผลงานได้ไม่ดีในช่วงหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะแพ้ในช่วงต่อไปเช่นกัน"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Neta Auto ส่งมอบรถยนต์มากกว่า 40 คันให้กับเจ้ากลุ่มแรงในฮ่องกงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับบริษัทในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม
ฟางกล่าวว่า Neta Auto ยังคงมุ่งเป้าไปที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้ว่าจะไม่ใช่ลำดับความสำคัญในขณะนี้ โดยเรียกการเข้าสู่ตลาดเหล่านี้ว่าเป็น "เพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น"
ขณะนี้ สหรัฐอเมริกากำลังเตรียมแบนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์จากจีนในรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย สหรัฐ สหภาพยุโรป และแคนาดาต่างพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนเพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมจากปักกิ่ง
"เราพัฒนาสินค้าสำหรับยุโรปแล้ว และขณะนี้เรากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสหรัฐซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย.ปีหน้า" ฟางกล่าว
"เราจะร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่นในเวลาที่เหมาะสมเพื่อเข้าสู่ตลาดเหล่านี้" โดยบอกว่าการพัฒนานี้เริ่มต้นขึ้นก่อนการตัดสินใจขึ้นภาษี
อย่างไรก็ตาม ฟางกล่าวว่าบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ในขณะที่เร่งขยายธุรกิจในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ทั้งนี้ Neta Auto มีโรงงานที่ดำเนินการเองหนึ่งแห่งในจีนและมีสัญญากับโรงงานในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งบริษัทจัดหาสายการผลิตและอุปกรณ์ที่กำหนดให้ โรงงานในไทยและอินโดนีเซียเริ่มดำเนินการอยู่แล้ว ในขณะที่โรงงานในมาเลเซียคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในต้นปีหน้า
บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยในบราซิลในปีนี้ ซึ่งได้เปิดหน้าร้านค้าหลัก และได้ระบุตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพบางรายในอียิปต์และเอธิโอเปีย
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นตลาดต่างประเทศที่มีผลงานดีที่สุดของ Neta Auto เมื่อปีที่แล้ว แบรนด์นี้อยู่ในอันดับที่ 2 ของการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 16.7% รองจาก BYD ที่มี 39.8% ในช่วงเดือนม.ค.ถึงก.ค. ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของ Neta Auto ในประเทศไทยอยู่ที่ 4,278 คัน ตามหลัง BYD ที่ขายได้ 17,409 คัน และ MG ที่ขายได้ 6,104 คัน
โดยรวมแล้ว Neta ขายรถยนต์ได้ 75,790 คันในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้ รวมถึงการส่งออก 20,000 คัน ซึ่งทำให้บริษัทยังห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายยอดขายประจำปีที่ 200,000 คันในประเทศและ 100,000 คันในต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนก.พ. ยอดขายลดลงติดต่อกันเป็นเวลาหกเดือน
เมื่อปีที่แล้ว Neta Auto ส่งออกรถยนต์ 17,019 คัน คิดเป็น 12% ของรายได้รวมทั้งหมด ส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศของบริษัทอยู่ที่น้อยกว่า 2%
สงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ สมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แห่งประเทศจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ได้ส่งรายงานด่วนไปยังปักกิ่งเพื่อขอการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากการแข่งขันกำลังคุกคามอนาคตของตัวแทนจำหน่าย
"การบริโภคที่อ่อนแอทำให้ตัวแทนจำหน่ายต้องรักษาระดับสินค้าคงคลังสูง ดังนั้นตัวแทนจำหน่ายจึงถูกบังคับให้ขายในราคาที่ต่ำลงเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ยิ่งขายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำมาซึ่งการขาดทุนที่มากขึ้นเท่านั้น"
ในเดือนส.ค. อัตราส่วนลดโดยรวมในตลาดรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 17.4% สงครามราคาทำให้เกิดการขาดทุนสะสมในการขายปลีกถึง 138 พันล้านหยวน (19.66 พันล้านดอลลาร์) ในตลาดรถยนต์ใหม่ในช่วงแปดเดือนแรก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างมีสุขภาพของอุตสาหกรรม สมาคมกล่าว