อัสสเดช คงสิริ” บทบาทสำคัญ ยุคฟื้นฟูตลาดหุ้นไทย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านการพัฒนาและสร้างตลาดทุนรองรับการเติบโตของประเทศมาตลอดช่วง 4 ทศวรรษ จากการดำเนินการวางยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กรภายใต้ “ผู้จัดการตลท.” ที่มีคณะกรรมการหรือบอร์ดจากภาคส่วนที่สำคัญในตลาดทุนเข้ามากำกับการดำเนินงาน
บทบาทใหม่ “อัสสเดช คงสิริ” ผู้จัดการ ตลท. คนที่ 14 ที่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 19 ก.ย. 2567 และยังมีอายุในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี สามารถต่อวาระได้อีก 1 ครั้ง มีโอกาสสูงที่จะรั้งตำแหน่งสำคัญนี้ยาวนานไปถึง 8 ปี หากผลงานเป็นที่ยอมรับของบอร์ด ที่สำคัญยังต้องประเมินจากเสียงสะท้อนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดทุนไปด้วย
อดีตที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายไม่หยุดยั้งและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในยุคนี้เทคโนโลยี ความรวดเร็วของระบบซื้อขายทำให้เกิดพัฒนาการในหลายด้านพร้อมเป็นจุดโหว่ที่ทำให้ผู้ที่ต้องการหาประโยชน์แต่เอาเปรียบกระทำความผิดพรบ. หลักทรัพย์ให้เห็นมากขึ้น
ยุคที่ตลาด “ไร้ความเชื่อมั่น” กำลังจะเข้าสู่ ยุค “ฟื้นตลาดทุน” และก้าวให้ทันทั้งงานพัฒนาที่เป็นหน้าเป็นตาสำหรับตลาดทุนไทย และ งานกำกับดูแลการซื้อขายเป็นงานหลังบ้านที่ละเลยไม่ได้ และละหลวมให้เกิดช่องโหว่ให้น้อยที่สุด
คุณสมบัติที่ฝ่าฟันคู่แข่งสำคัญอีก 9 ราย ซึ่งบอร์ดเห็นชอบผ่านรับเลือกเปิดเผยจากคณะกรรมการคัดเลือกที่ผ่านมาไม่ได้ถึงขั้นได้เกรด A สำหรับแผนงานแต่ มีวิสัยทัศน์ที่ดีพร้อมปรับเปลี่ยนและเรียนรู้บทบาทสำคัญนี้ มีประสบการณ์ด้านตลาดเงิน ตลาดทุน ประวัติการทำงานในองค์กรระดับโลกมีและยังมีอายุที่เหมาะสมในการดำเนินงานให้ต่อเนื่อง
รวมไปถึง “การฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย” ที่ถูกตั้งเป็นโจทย์สำคัญผลักดันให้ตลาดทุนไทยฟื้น แผนงานในการดูแลนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย ประกอบกับ "การสร้างจุดขายให้กับตลาดหุ้นไทย" ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันกลับมาสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้น
ด้านประสบการณ์ทำงานถือว่าสำหรับ “อัสสเดช” ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับตลาดทุนโดยได้ร่วมงานกับดีลอยท์ ประเทศไทย ปี 2565 ในฐานะหัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการเงินมีประสบการณ์กว่า 30 ปีในการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในด้านวานิชธนกิจ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ธนาคารแห่งชาติอเมริกา เมอร์ริลลินซ์ ซึ่งเป็นโบรกต่างชาติที่ขนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน Thailand Focus ร่วมกับ ตลท. ปี 2554
โดยมีผลงานที่โดดเด่นช่วงที่เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ฟินันซ่า ปี 2563 ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ด้วยการเสนอแผนจัดหาเงินทุนแปลงหนี้เป็นทุน หรือเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือเปิดรับทุนจากพันธมิตรใหม่ ซึ่งยังได้ทำงานร่วมกับศาตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ THAI และปัจจุบันได้รับเลือกเป็นประธานตลท. คนปัจจุบันเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567
จากการให้สัมภาษณ์ประธาน ตลท. กับทาง “กรุงเทพธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ บ่งบอกชัดเจนว่าบุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งนี้ถือว่า “มีความท้าทายมาก” จึงต้องมีความกล้า มีวิสัยทัศน์ ริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ มีความเข้าใจตลาดทุน ต้องสื่อสารภายนอกเป็น ขายของได้ หรือเป็นเซลส์แมน และที่สำคัญมีอายุการทำงานในตำแหน่งนี้จนครบ 2 วาระ หรือ 6-7 ปี หรือครบ 8 ปีได้ยิ่งดี
ที่น่าติดตาม คือ การนำเสนอให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำแผนการดำเนินงาน 3 ปี นำเสนอกับบอร์ด เน้นประสิทธิผลของบจ. ด้วยการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยมาประเมินมูลค่าของธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ใช้อยู่ เป็นต้น
ทั้งทำข้อมูลในระยะกลางของ บจ.เผยแพร่ให้กับนักลงทุน จากข้อมูลปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอในการประเมินและใช้ประกอบการตัดสินลงทุน การประเมินประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในอนาคต
บทบาทใหม่สำหรับ ผู้จัดการ ตลท. คนที่ 14 มีความคาดหวังไว้สูง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนไทย และยังคงเป็นแหล่งการลงทุนสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนในประเทศอย่างแท้จริง