สัญญาณบวกยังอยู่ต่อเนื่อง

สัญญาณบวกยังอยู่ต่อเนื่อง

แนวโน้มการลงทุนเดือนตุลาคม ต้องบอกว่า โมเมนตัมเชิงบวกยังมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น วายุภักษ์ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ รวมทั้งแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาเป็นระยะๆ

ตลาดหุ้นเดือนกันยายน ปรับตัวสูงขึ้นราว 7% ทำเอาเราลืมกันไปเลยว่าตลอด 8 เดือน ที่ผ่านมานี่ตลาดหุ้นบ้านเราถือว่าแย่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ เรื่องเดียวที่เรียกน้ำหนักเชิงบวกได้มากสุด คือ กองทุนวายุภักษ์ ด้วยขนากองทุนกว่า แสนล้าน บวกกับการคาดหวังผลตอบแทนปีละ 3-9% ตลอด 10 ปี ถือได้ว่าสามารถสร้างฐานให้กับตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องการแจกเงิน หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบาง ก็มีส่วนช่วยให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนดูดี ขึ้น แต่ที่แย่หนักๆ คือการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท และสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย

เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต PMI ของ ISM ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย จาก 47.5 เป็น 47.2 ส่งผลให้ดัชนี Global composite PMI ภาคการผลิตเดือนสิงหาคมปรับลดลงต่อมาอยู่ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (NFP) ประจำเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 1.42 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 1.65 แสนตำแหน่ง จากนั้นในช่วงกลางเดือนธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาอยู่ที่ 4.75-5.00% โดยค่ากลาง ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนค่ากลาง ณ สิ้นปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 3.25-3.50% และ 2.75-3.00% ตามลำดับ มาดูทางประเทศ ญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาดการณ์ และหลังการประชุม นาย คาซโอะ อูเอดะ ผู้ว่าธนาคารกลาง ส่งสัญญาณเชิงผ่อนคลายทางการเงินอย่างชัดเจน

โดยกล่าวว่า เราคงไม่รีบร้อนที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยใดๆ หากเป้าหมายต่างๆยังไม่บรรลุผล ท้ายสุดในช่วงปลายเดือน กรรมการของ Fed ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันคือเดินหน้านโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินสหรัฐฯอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ในช่วงปลายสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่นการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse-repo 7 วัน การปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงไว้ (RRR) การจัดตั้ง Swap program เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ริเริ่มโครงการ Re-lending facility โดยเป็นการให้สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่บริษัทจดทะเบียนในการซื้อหุ้นคืน มาตรการเหล่านี้ถือเป็นชุดมาตรการที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังจากที่ผ่านช่วงซบเซามากกว่า 3 ไตรมาส

มาดูสถานการณ์ประเทศไทยกันบ้าง กระทรวงการคลัง ประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ในวันที่ 16-20 กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 18-20 กันยายน สำหรับประเภท ก. ที่รายย่อยซื้อได้ จองขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท กำหนดผลตอบแทน 10 ปีแรก 3-9% ต่อปีปันผลปีละ 2 ครั้ง ตามมาด้วยการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบาง หมื่นบาท สุดท้าย เงินบาทปรับตัวแข็งค่าทะลุระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่ FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้แสดงสัญญาณใดๆที่จะเข้าแทรกแซงในตลาดเงินช่วงนี้ ส่งผลให้ Fund flow ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

แนวโน้มการลงทุนเดือนตุลาคม ต้องบอกว่า โมเมนตัมเชิงบวกยังมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น วายุภักษ์ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ รวมทั้งแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าติดตามคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภคภายในประเทศ และสถานการณ์น้ำท่วมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ภาพใหญ่ในระดับโลกดูมีพัฒนาการที่ดีและน่าจะสร้างโอกาสในเชิงโมเมนตัมได้มาก Let Profit Run อย่างไรก็ตามที่ระดับจิตวิทยาที่สำคัญ บริเวณ 1,480 อาจจะเป็นจุดพิจารณาที่จะเพิ่มการถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น 5-10% โดย ณ เวลานี้ พอร์ตการลงทุน ยังควรที่จะมีหุ้น 50% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนใน ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10%