การเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาตลาดหุ้น ?
ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ จึงคาดว่าหุ้นเอเชียจะช่วยให้นักลงทุนข้ามผ่านความไม่แน่นอนช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้
เราได้เดินทางมาสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 กันแล้ว อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน เหตุการณ์ที่สำคัญของโลกก็จะเวียนมาถึงอีกครั้ง นั่นก็คือการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ระหว่างคุณ Donald Trump จากพรรครีพับลิกันและ คุณ Kamala Harris จากพรรคเดโมแครต โดยผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ นั้นเปรียบเสมือนผู้ชี้ชะตาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผ่านการกำหนดนโยบายการค้า นโยบายการทหาร ตลอดจนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในความไม่แน่นอนต่อตลาดการเงิน เพราะ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากนโยบายของทั้งสองพรรคมีความแตกต่างกันหลายด้าน โดยเฉพาะด้านภาษี ที่พรรครีพับลิกันมีนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% และต่ออายุการลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา โดยคงเพดานอัตราสูงสุดไว้ที่ 37% ผ่านการขยายกฎหมาย Tax Cuts and Job Acts คาดการณ์ว่าจะหนุนกำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนี S&P 5000 ได้ราว 4% โดยเฉพาะบริษัทที่มีกำไรระดับสูงก็จะได้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่ม Communication Services และกลุ่มการเงิน
ในทางกลับกัน พรรคเดโมแครตมีนโยบายจะขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% อีกทั้งจะให้กฎหมาย Tax Cuts and Job Acts หมดอายุลง ซึ่งนั่นจะส่งให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้สูง เพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ และนำไปเพิ่มสวัสดิการด้านต่างๆ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบในทางตรงข้ามต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน โดยคาดว่าจะเป็นผลลบต่อ EPS ราว 8%
อีกหนึ่งนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญคือด้านพลังงาน พรรครีพับลิกันสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอลซิล ในขณะที่พรรคเดโมแครตสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งจะเป็นบวกหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาด ส่วนนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งสองพรรคยังมีความคล้ายคลึงกัน คือยังคงเดินหน้าทำสงครามการค้ากับประเทศจีน และจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยทางพรรครีพับลิกันที่ชูนโยบาย America First จึงมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่รุนแรงกว่า โดยคุณ Donald Trump ระบุว่าจะเก็บภาษีในอัตรา 60% จากจีน และ 10% จากประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น
จะเห็นได้ว่าจากนโยบายหลักๆ ของแต่ละพรรคล้วนส่งผลกระทบต่อหุ้นสหรัฐฯ ในแต่ละอุตสาหกรรมในทิศทางที่แตกต่างกัน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนี้นักลงทุนบางส่วนอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์ เราจึงแนะนำทยอยลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ นั่นก็คือ หุ้นตลาดเกิดใหม่ ที่จะได้ประโยชน์จากกระแสเม็ดเงินไหลเข้า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เข้าสู่วัฎจักรการลดดอกเบี้ยไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง นอกจากนั้นจากข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1988 พบว่า 100 วันหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ดัชนี MSCI Emerging Market ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +12.93% มีเพียงปี 2000 ที่เกิดวิกฤต Dot-com ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ
โดยแนะนำเน้นลงทุนไปในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทำให้ธนาคารกลางพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยตาม FED ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดหุ้น แต่ทั้งนี้อาจจะต้องระมัดระวังการลงทุนในจีน เพราะคาดว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะสร้างความผันผวนได้ โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าที่จะกระทบต่อการส่งออก ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2018 ที่หุ้นจีน (ดัชนี CSI300) ปรับตัวลงราว -32% และเงินหยวนอ่อนค่าราว 7% อย่างไรก็ตามประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปรียบในแง่ของการส่งออกสินค้ามูลค่าสูง เช่น Semiconductors ที่ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกกว่า 20% ของโลก และได้ผลพลอยได้จากการที่สหรัฐฯ กีดกันด้านเทคโนโลยีจากจีนด้วย ด้านภูมิภาค ASEAN บ้านเรา ดาวเด่นก็คงหนีไม่พ้นประเทศเวียดนาม ที่เศรษฐกิจเติบโตโดดเด่น โดย GDP ไตรมาส 3 เติบโตถึง +7.4% YoY หนุนจากการส่งออกและภาคอุตสาหกรรม
ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ จึงคาดว่าหุ้นเอเชียจะช่วยให้นักลงทุนข้ามผ่านความไม่แน่นอนช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้