“อัปเดตการพัฒนา SEC Digital Services มุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (1)”
ในอนาคต ก.ล.ต. และภาคธุรกิจร่วมมือกันจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ภาคตลาดทุน” หรือ TCM-CERT ได้สำเร็จ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือกันในการรับมือภัยไซเบอร์ ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างดำเนินการและเริ่มเปิดรับสมาชิกแล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก.ล.ต. จัดงานสัมมนา “SEC Digital Services” ในหัวข้อ “Digital Horizons : Shaping the Future of Capital Market การมองไปข้างหน้าสู่โอกาสและความท้าทายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในตลาดทุนไทย” เพื่ออัปเดตความคืบหน้าการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลที่ผ่านมาของ ก.ล.ต. และเล่าถึงแผนการพัฒนาในปี 2568 ซึ่งน่าจะทำให้ท่านที่เข้าร่วมงานได้เห็นภาพตลาดทุนไทยที่กำลังได้รับการขับเคลื่อนไปสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล” รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนที่ร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังและทยอยเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมอยู่ในขณะนี้ และเพื่อให้ท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมงานได้รับทราบแผนงานในด้านนี้ของ ก.ล.ต. ด้วย ผมจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากงานมาเล่าให้ฟังกันครับ
หลายท่านน่าจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า การพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล” เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยดำเนินการทุกขั้นตอนโดยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเอื้อต่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มการลงทุน กระจายความเสี่ยง และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุนและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ
นั่นเพราะเราทุกคนทราบดีว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วและมีบทบาทอย่างมากในการทำงานของทั้งภาครัฐและเอกชน ดังที่ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานว่า ปัจจุบันโลกดิจิทัลเข้ามาดิสรัปทุกเรื่องด้วยสปีดเร็วกว่าแสง เข้ามาแทรกซึมอยู่ในทุกเรื่อง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่กับอนาคตที่เป็นปัจจุบันของเราได้ เพราะหลายสิ่งที่เคยคาดกันว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เช่น AI ที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น ดังนั้นสำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลในวันนี้จึงเป็น “Future is now” ไม่ใช่ “Future is future” แล้ว
ก่อนจะเล่าถึงแผนงานในอนาคต ผมขอเล่าถึงความคืบหน้าในการพัฒนาและยกระดับการให้บริการดิจิทัลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาสักนิดครับ โดยในรอบปี 2567 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการไปหลายเรื่องเลยครับ ตามที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวไว้ในงานครับ ไม่ว่าจะเป็น
(1) การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การยื่นขอรับและออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทางเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) แพลตฟอร์มศูนย์บริการแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน (Stakeholder Service Portal) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตและรายงานข้อมูลต่าง ๆ และการรวมศูนย์ SEC Check Tools เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือช่วยตัดสินใจลงทุนและแจ้งเตือนความเสี่ยง
(2) การยกระดับการกำกับดูแลด้วยเทคโนโลยี เช่น การรับข้อมูลแบบละเอียด (Granular Data) จากผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาคธุรกิจและช่วยให้การวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แม่นยำขึ้น และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาใช้ในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำผิดและคุ้มครองผู้ลงทุน
(3) การส่งเสริมนวัตกรรมด้านดิจิทัล ผ่านโครงการ Regulatory Sandbox เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจสามารถทดลองนำนวัตกรรมมาพัฒนาการให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและตลาดทุนได้
(4) การพัฒนาบุคลากรภาคตลาดทุน โดยการสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมทั้งพัฒนาทักษะการรับมือภัยคุกคามให้กับบุคลากรภาคตลาดทุนอย่างสม่ำเสมอ
ในปี 2568 ก.ล.ต. มีแผนพัฒนาการให้บริการดิจิทัลต่อเนื่องจากปีนี้ โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
(1) Empowering Business: การขับเคลื่อนดิจิทัลอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัยอันจะช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายและวิกฤตต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น การรายงานข้อมูล e-Reporting แบบ Granular Data และโครงการ Regulatory Sandbox รวมทั้งการสร้างความตระหนักและความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ และการดูแลความเสี่ยงจากการใช้งาน AI และ Machine Learning ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกรรมในปัจจุบัน
การรายงานข้อมูล e-Reporting แบบ Granular Data คือ การให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งข้อมูลแบบละเอียดในระดับใกล้เคียงกับที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บมายัง ก.ล.ต. ผ่านระบบ e-Reporting แทนการรายงานรูปแบบเดิม ที่ต้องจัดทำตามแบบฟอร์มที่ ก.ล.ต. กำหนด เพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล สามารถวิเคราะห์ได้หลากหลายรูปแบบ สะดวกต่อการนำไปตัดสินใจดำเนินการ กำกับดูแล และดูแลความเสี่ยงในภาพรวมของธุรกิจ รวมไปถึง การเปิดเผยข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วและจะมีการหารือกับผู้ประกอบธุรกิจเพื่อปรับปรุงการทำงานและระบบงานให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ในอนาคต ก.ล.ต. และภาคธุรกิจจะสามารถร่วมมือกันจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ภาคตลาดทุน” หรือ TCM-CERT ได้สำเร็จ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือกันในการรับมือภัยไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการและเริ่มเปิดรับสมาชิกแล้ว
น่าเสียดาย วันนี้พื้นที่หมดแล้วครับ ขอยกยอดแผนการพัฒนาในด้าน (2) Streamlining Services และ (3) Democratizing Wealth ซึ่งเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญอย่างมาก ไปเล่าต่อในครั้งหน้านะครับ ซึ่งหากเล่าครบทั้ง 3 ด้านแล้ว น่าจะทำให้เห็นภาพชัดว่า การพัฒนา “SEC Digital Services” ของ ก.ล.ต. ช่วงที่ผ่านมานอกจากจะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิทัลในตลาดทุนควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมทั้งยังสะท้อนถึงทิศทางของแผนการพัฒนาในด้านนี้ในระยะต่อไป ซึ่งผมจะนำมาเล่าในตอนถัด ๆ ไปด้วยครับ
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ