DELTA เผยไตรมาส 3 /67 กำไร 5.91 พันล้าน ยอดขายกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์พุ่ง
“เดลต้า” เผยไตรมาส 3 ปี 67 กำไรสุทธิ 5.91 พันล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รับผลบวกขับเคลื่อนโดย “กลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์” ขยายตัวโดดเด่น ทั้งจากเพาเวอร์ซิสเต็ม “ดาต้า เซ็นเตอร์-ผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์” ซึ่งมีความต้องการสูงตามแนวโน้มการใช้ AI แพร่หลายมากขึ้น
นายเจิ้งอัน กรรมการ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 กำไรสุทธิ 5,911 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,429 ล้านบาท
โดยยอดขายสินค้าและบริการในไตรมาสนี้อยู่ที่ 43,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานสูงในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนในอัตราร้อยละ 6.8 และเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 3.5 จากไตรมาสที่แล้วขับเคลื่อนโดยกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างโดดเด่น ทั้งจากเพาเวอร์ซิสเต็มสำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ และผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์ซึ่งมีความต้องการสูงตามแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่แพร่หลายมากขึ้น
ส่งผลต่อการลงทุนในโครงสร้างพันฐานและระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการประมวลผลสมรรถนะสูง นอกจากนั้น กลุ่มพัดลมและระบบจัดการความร้อน และเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม มีการเติบโตที่ดีในไตรมาสนี้
ขณะเดียวกัน กลุ่มโซลูชั่น สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ายังส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างจำกัดจากช่วงครึ่งปีแรก และปรับตัวลดลงจากฐานสูงในไตรมาสเดียวกันของปี ที่แล้ว สืบเนื่องจากดีมานด์อุตสาหกรรมยานยนต์โลกอ่อนตัวลง ส่งผลให้ลูกค้าเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารสินค้าคงคลัง และปรับแผนการขายให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด
นอกจากนั้น กลุ่มพาวเวอร์ซิสเต็ม สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเทเลคอม ยังคงประสบสภาวะยอดขายชะลอตัวภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความท้าทาย บริษัทฯ ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรัดกุม พร้อมบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชันและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทิศทางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ขณะที่ กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้มีจำนวน 11,927ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขับเคลื่อนโดยยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ร่วมกับการบริหารสินค้าคงคลังของกลุ่มสินค้าหลักอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้น ทรงตัวได้ดีในระดับสูง และเพิ่มขึ้นกว่า ไตรมาสก่อน
รวมถึงไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นนของยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง ควบคู่กับการกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงคลังเพิ่มเติมในไตรมาสนี้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมการวิจัยและพัฒนา) มีจำนวน 5,938ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 จากปีก่อนหน้า
เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขายในส่วนค่าสิทธิจ่ายเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารเพิ่มขึ้นไตรมาสนี้จากค่าเสื่อมราคาค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและค่าบริการวิชาชีพ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาด งานประชาสัมพันธ์และอีเว้นท์ต่าง ๆ
สำหรับ กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้มีจำนวน 5,989ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรร้อยละ 13.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 ของงวดเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากความสามารถในการทา กำไรที่ดีขึ้นของยอดขายในกลุ่มสินค้าที่เติบโตสูง
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ บันทึกรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน สืบเนื่องจากทิศทางเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 5,911ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 13.7และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.47 บาท เติบโตร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับ 0.44 บาทต่อหุ้น ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน