ภารกิจ ‘ประธาน ก.ล.ต.’ ดันตลาดทุนไทยโต ‘2 เท่าของจีดีพี’

ภารกิจ ‘ประธาน ก.ล.ต.’  ดันตลาดทุนไทยโต ‘2 เท่าของจีดีพี’

ก้าวต่อไปของ “ตลาดทุนไทย” ยังคงต้องเผชิญ ทั้ง “ความเสี่ยง-ความท้าทาย” เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วย "AI" และ หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในรอบนี้ ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตลาดทุน และสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ “ความผันผวนยิ่งเร็วขึ้น”

ในขณะที่ “การเรียกความเชื่อมั่นคืน” กลับคืนสู่ “ตลาดทุนไทย” ยังคงเป็นภารกิจสำคัญระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะผสานการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อจนเกิดภาพชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ 

ภารกิจด่วน “ประธาน ก.ล.ต.”  

ทั้งหมดยังคงเป็นภารกิจเร่งด่วนของ “ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ประธานกรรมการ ก.ล.ต. คนใหม่ หลังจากเข้ามารับตำแหน่งตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา และยังคงเดินหน้าเร่งสะสางต่อเนื่องในปี 2568 ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับ ตลท. มีความจำเป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นด้านกำกับดูแลให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน รวมถึงสอดรับกับระบบนิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน โดย 9 ธ.ค.67 นี้ ทาง ก.ล.ต. กับ ตลท. จะมีการประชุมหารือแนวทางในการกำกับดูแล และส่งเสริมพัฒนาผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทยของปีหน้า

โดยเพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมาย และกฎเกณฑ์ของแต่ละองค์กร  เป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของ 2 องค์กรในการกำกับดูแล เพื่อให้ตลาดทุนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นธรรม น่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศต่อไป

“เราเน้นย้ำสร้างสมดุล ระหว่างการกำกับดูแล ควบคู่กับการส่งเสริม และพัฒนา ทั้งสององค์กรมีบทบาทหน้าที่สำคัญขับเคลื่อนตลาดทุนไทยร่วมกันเช่นซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างมีขั้นมีตอน ในการกำหนดนโยบายทั้งการกำกับ และส่งเสริมพัฒนาตลาดทุนไทย หากเป็นบริบทของการแก้ปัญหา คงไม่ได้มีเวลามากมายอีกต่อไป และการกำหนดโจทย์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่งานวิจัยที่ดี และการกำหนดนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น การจำนำหุ้น”

สร้างความเชื่อมั่น-ส่งเสริมตลาดทุนไทย

พร้อมกันนี้ ภารกิจเร่งด่วนช่วง 3-6 เดือน “สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และส่งเสริมตลาดทุนไทย” ตามที่ได้เคยประกาศไว้ช่วงเข้ามารับหน้าที่เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมานั้น ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ภารกิจแรก ยังมุ่งเน้นการปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทย และทำให้ตลาดทุนไทยเป็นไปตามกลไกตลาด และตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง

โดยต้องมีการแยกระดับการดำเนินคดีต่างๆ เช่น การแยกตามคดีที่มีผลกระทบรุนแรง (High Impact) ผลกระทบปานกลาง (medium Impact ) และผลกระทบน้อย (Low Impact) พร้อมทั้ง การกำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด (ร้องทุกข์กล่าวโทษ) ในแต่ละระดับคดี “ให้เร็วขึ้นเป็นหลักเดือน” จากที่ผ่านมาใช้เวลาเป็นหลักปี โดยจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานตัวชี้วัด (KPI) ประสิทธิผลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการปรับโครงสร้างภายในของก.ล.ต. และการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม รอการพิจารณา เช่น การเพิ่มอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน รวมถึงมีศูนย์ร้องเรียน ช่วยป้องกันยับยั้งเหตุให้ดีขึ้น

“กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. คงกำหนดภายใต้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. เป็นหลัก และพยายามบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน อื่นๆ เพื่อจับกุม และการพิพากษาจะสิ้นสุด เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.เห็นผลดี และชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นการสื่อสารที่มีความชัดเจน รวมถึง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ภารกิจที่สอง “วางโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย แบบดิจิทัล” เตรียมใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์หาหลักฐาน ตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงนำส่งข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงระบบกับ ตลท. เพื่อลดความซ้ำซ้อน สอดรับระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน

รวมถึงสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบ ป้องกัน ป้องปรามติดตามดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน และการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบในวงกว้าง และลดผลของความเสียหายต่อผู้ลงทุน และตลาดทุนไทยได้ดี และเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ส่งเสริมผู้ลงทุนให้มีความรู้ ผ่าน Open Data ของภาคตลาดทุน และภาคการเงิน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในส่วนภารกิจที่ 3 สุดท้าย ก.ล.ต.จะมุ่งส่งเสริมลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะ “โทเคนดิจิทัล” ประเภทอินเวสท์เมนต์โทเคน (Investment Token) ที่มีระบบเข้าช่วยขยายการระดมทุน เพื่อการลงทุนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น เรื่องคาร์บอนเครดิต ที่อาจส่งเสริมให้มีระบบการสร้างมูลค่า และการซื้อขายในวงกว้างมากขึ้น

โดยเรื่องนี้ มองว่า หาก ก.ล.ต. มีการให้ไลเซนส์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และมีมาตรการต่างๆ ในเชิงส่งเสริม มองตลาดอินเวสท์เมนต์โทเคน ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) มูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท 

ลดความเสี่ยงนำ “ความรู้-งานวิจัย-ข้อมูล” เข้ามาช่วย 

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ พบว่ากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต.และ ตลท. เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ถือว่า “ทำได้ดี”

ทั้งการพิจารณาหลักกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และได้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิด และกล่าวโทษตามกระบวนบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งอย่างเต็มที่ ขณะนี้คดีที่ค้างอยู่ทยอยออกไปมากแล้ว

และมองว่า “การนำความรู้ งานวิจัย และข้อมูล” มาใช้ในการบริหารจัดการกำหนดนโยบายกำกับดูแล ยังช่วยทำให้ความเสี่ยงของตลาดทุนไทยในระยะข้างหน้าลดลง

ท้ายที่สุดแล้ว ภารกิจเร่งด่วนต่างๆ ในปีหน้าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยมีการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันใน ตลาดทุนไทย ให้มี “ความลึกขึ้น และชัดเจนขึ้น” ควบคู่กันแล้วด้วยการเดินหน้า วางโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยในหลายเรื่องๆ

ท้ายสุด “ศาสตราจารย์วิศิษฏ์” มั่นใจนี่คือ โอกาสของตลาดทุนไทยไปสู่เป้าหมายมูลค่าตลาดเติบโตได้มากกว่า “2 เท่าของจีดีพี” ประเทศไทยในปัจจุบัน และสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล และทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์