สรุปมุมมองสินทรัพย์ทั่วโลกเดือนมีนาคม 2568

สรุปมุมมองสินทรัพย์ทั่วโลกเดือนมีนาคม 2568

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวน โดย Equity Risk Premium อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี และอัตราผลตอบแทนจากหุ้นลดลงจนเข้าใกล้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มแสดงสัญญาณอ่อนแอ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง 7.0 จุด ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจ ลดลงต่ำกว่าระดับที่มักบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในเดือนก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI All-Country World Equity Index ปรับตัวขึ้นสงูสุดถึง 2.1% ในระหว่างเดือน แต่ปิด ณ วันที่ 28 ก.พ. ลดลง 0.7% ทำให้กำไรที่ทำไว้ในเดือนม.ค. ที่ 3.3% หายไปบางส่วน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านสงครามการค้าทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น สำหรับมุมมองต่อสินทรัพย์แต่ละประเภทในระยะอันใกล้สรุปได้ดังนี้

สรุปมุมมองสินทรัพย์ทั่วโลกเดือนมีนาคม 2568

ตลาดพันธบัตร : ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ กับหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและตลาดโลกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในปี 2561 นำไปสู่การกำหนดภาษีศุลกากร 10-25% สำหรับสินค้าที่ สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน มูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ (จีนมีการตอบโต้กลับ) ทำให้ผู้นำเข้าต้องเร่งสต็อกสินค้าก่อนภาษีมีผลบังคับใช้ แม้ว่าภาษีจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (Fed) ไม่มองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง Fed ต้องหาสมดุลระหว่างการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ หากนโยบายการเงินเข้มงวดเกินไป อาจสร้างความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นในกรณีที่ภาษีกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนอย่างรุนแรง โดยทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวง ยังคงมุมมองว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในปี 2568 จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มากกว่าที่ตลาดคาด

ตลาดหุ้นไทย : ดัชนี SET ปรับตัวลดลงหลังจากที่ GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 ของไทยเติบโตเพียง 3.2% YoY ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด 11.1% โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ มีผลประกอบการอ่อนแอ แต่กลุ่มธนาคารและการท่องเที่ยวกลับทำได้ดี ภาคการท่องเที่ยวมีกำไรเติบโตแข็งแกร่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจประกันได้รับอานิสงส์จากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS17) กลุ่มเกษตร อาหาร การเงิน และสินค้าจำเป็น รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเช่นกัน ดัชนี SET อาจรีบราวด์ได้ชั่วคราวที่ระดับ P/E ปี 2568 ที่ 13 เท่า โดยได้รับแรงหนุนจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากสงครามการค้ายังคงมีอยู่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันกลุ่มเคมีภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ พลังงาน และยานยนต์ ซึ่งอาจทำให้เป้าหมายดัชนี SET สิ้นปี 2568 ปรับลดลงเหลือ 1,280 จุด 

ตลาดหุ้นเวียดนาม : กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีของธนาคารเวียดนามรวมกันเพิ่มขึ้น 25.9% YoY ในไตรมาส 4 ปี 2567 ขณะที่กำไรของภาคธนาคารทั้งปี 2567 เติบโต 18.4% หนุนจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากการซื้อขายพันธบัตร รวมทั้งการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ยที่แข็งแกร่ง อัตราการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 17.8% YoY โดยการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจเติบโตเร็วกว่าสินเชื่อรายย่อย ขณะที่อัตราส่วนหนี้เสีย (NPLs/loans) ลดลงเหลือ 1.75% ณ สิ้นปี 2567 อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนเงินทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้การลงทุนภาครัฐของเวียดนามเพิ่มขึ้น 9.6% YoY ในเดือนมกราคม 2568 แม้ว่าจะมีวันทำงานน้อยลง ขณะที่การส่งออกโดยรวมลดลง 4.3% YoY แต่การส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 25.2% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3,100 ล้านดอลลาร์ ยอดค้าปลีกเติบโต 9.5% YoY และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งขึ้น 36.9% YoY การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 48.6% YoY สู่ระดับ 4,300 ล้านดอลลาร์ แม้ว่า FDI จะแข็งแกร่งแต่เวียดนามยังคงเผชิญความเสี่ยงระยะสั้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางการค้า 

ตลาดหุ้นจีน : หุ้นเทคโนโลยีจีนกำลังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจุดประกายจากการเปิดตัว AI ในโมเดล R1 ของ DeepSeek ที่สร้างขึ้นด้วยงบเพียง 6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการท้าทายความเป็นผู้นำในด้าน AI ของสหรัฐฯ แม้ว่าจะเผชิญข้อจำกัดด้านการส่งออกเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ขณะที่ Alibaba, Baidu และ ByteDance ก็ต่างเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม AI ของจีน ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีโดยการประชุมของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับผู้นำเทคโนโลยีในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงยุคใหม่ของการสนับสนุนภาคเทคโนโลยีจากรัฐบาลจีน ดัชนี FTSE China Tech คาดการณ์กำไรเติบโต 31% YoY ในปี 2568 ซึ่งใกล้เคียงกับ NASDAQ 100 ที่คาดการณ์เติบโต 30% แต่หุ้นเทคโนโลยีจีนเทรดมูลค่าต่ำกว่าทำให้มีโอกาสเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า โดยสรุปแม้หุ้นเทคโนโลยีจีนที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน หุ้นจีนยังมีศักยภาพในการลดช่องว่างของผลตอบแทน (Performance Gap) นี้ เนื่องจากดัชนี FTSE China Tech มีอัตราการเติบโตของกำไรในปี 2568 ที่ 31% ซึ่งสูงกว่า NASDAQ 100 ที่ 30% ขณะที่มี Forward P/E ต่ากว่าถึง 29%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวน โดย Equity Risk Premium อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี และอัตราผลตอบแทนจากหุ้นลดลงจนเข้าใกล้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มแสดงสัญญาณอ่อนแอ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง 7.0 จุด ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจ (Expectations Index) ลดลงต่ำกว่าระดับที่มักบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ดัชนีชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจล่วงหน้า (Leading Economic Index) และดัชนีภาคธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Performance Index) ต่างปรับตัวลดลง โดย 41% ของร้านอาหารรายงานว่ายอดขายลดลงแม้ว่าตลาดจะยังคงมองโลกในแง่ดี แต่ดัชนี Citi Economic Surprise Index กลับเป็นลบ อีกทั้งยังความเป็นไปได้ที่รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ อาจกำหนดภาษีเพิ่มเติมในไตรมาส 2 ปี 2568 ทำให้ความขัดแย้งทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยระดับ P/E ปี 2568 ที่สูงถึง 22 เท่า และการปรับลดประมาณการกำไรยังคงมีอยู่ทำให้ ความเสี่ยง-ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่จูงใจ ควรรอจนกว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะถูกสะท้อนในราคาหุ้นอย่างเหมาะสม