1 มิถุนายน “วันดื่มนมโลก” ชวนส่องสุขภาวะ “เด็กไทย” ผ่านการดื่มนม 

1 มิถุนายน “วันดื่มนมโลก” ชวนส่องสุขภาวะ “เด็กไทย” ผ่านการดื่มนม 

นมจัดว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก เนื่องใน "วันดื่มนมโลก" ปีนี้ จึงชวนส่องสุขภาวะของ "เด็กไทย" ผ่านการดื่มนม

1 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันดื่มนมโลก" หรือ World Milk Day กำหนดขึ้นโดยองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภค "นม" แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ที่มีการเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลก 

  ความสำคัญของการดื่มนม  

นม หรือ น้ำนม (Milk) จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยสารอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีนที่มีกรดอมิโนครบทุกชนิด ไขมัน น้ำตาลแล็กโทส (Lactose) ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตในนม รวมถึงแร่ธาตุที่สำคัญอย่าง แคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟัน และวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินเอ บี 1 บี 2 ไนอะซิน (Niacin) กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid) ไพริดอกซิน (Pyridoxine) ไบโอทิน (Biotin) เป็นต้น 

นอกจากนั้น นมยังถูกระบุให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแท้จริง จัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงที่สุด และเป็นแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุด คุณค่าทางโภชนาการทั้งหมดนี้ ทำให้การดื่มนมมีส่วนช่วยต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น  

  • ช่วยทำให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค 
  • ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในวัยผู้ใหญ่ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน และกระดูกเปราะ
  • ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทให้ตอบสนองได้รวดเร็ว

ฉะนั้น นมจึงเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับผู้คนทุกวัย เพราะร่างกายต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างและซ่อมแซมภายในอยู่เสมอ

  ชนิดและปริมาณการดื่มนมที่เหมาะสม  

แม้ว่านมจะเหมาะกับผู้คนทุกช่วงวัย แต่ความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละช่วงเวลาก็มีความแตกต่างกันบ้าง ส่งผลต่อการเลือกชนิดนมที่ควรดื่ม เช่น สำหรับเด็กทารก การดื่มนมแม่จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรดื่มนมที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งมารดาและทารกในครรภ์ หรือสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานนมพร่องมันเนย/ขาดมันเนย และควรหลีกเลี่ยงนมที่มีรสหวาน เป็นต้น

นอกจากการเลือกชนิดนมแล้ว ปริมาณนมที่ควรดื่มก็มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างของร่างกายในแต่ละวัย โดยจำแนกได้ดังนี้ 

  • วัยเด็ก (อายุ 1-12 ปี) ควรดื่มนม 3 แก้วต่อวัน
  • วัยหนุ่มสาว (13-25 ปี) ควรดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว
  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวัยละ 2 แก้ว 
  • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 3 แก้ว 

(หมายเหตุ : 1 แก้ว เท่ากับ 200 มิลลิลิตร)

  การดื่มนมของ “เด็กไทย”  

อย่างที่ทราบกันดีว่า การดื่มนมด้วยปริมาณที่เหมาะสมตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยในปี 2562 พบว่า คนไทยดื่มนมเพียง 2 แก้วต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยเพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลกที่ 66 และ 113 ลิตรต่อคนต่อปี  

พฤติกรรมข้างต้น สอดคล้องกับผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 ที่พบว่า เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6-14 ปี มีภาวะเตี้ย 8.9%กินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5% ข้อมูลตรงนี้ชี้ให้เห็นถึงสุขภาวะของเด็กไทยไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย 

กระทรวงสาธารณสุขพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ลูกหลานดื่มนมโครสจืด อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว ส่วนเด็กที่แพ้นมวัว สามารถดื่มนมที่ได้จากธัญพืช พร้อมรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากนมจากธัญพืชจะมีโปรตีนเป็นหลัก ส่วนแคลเซียมอาจมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต 

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายวันละ 60 นาที และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายและทำให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone : GH) ที่ช่วยในการเจริญเติบโตเสริมสร้างร่างกายได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือลดสัดส่วนของเด็กที่สูงต่ำกว่าเกณฑ์ในไทยได้ 

  “ความเหลื่อมล้ำ” กับปัญหาทางด้านสุขภาพและโภชนาการ  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาวะของเด็กไทยไม่ใช่เพียงเรื่องของโภชนาการ แต่ยังหมายถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา โดยจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicators Cluster Survey : MICS) ในปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดทำขึ้นทุก 3 ปี บ่งชี้ว่า ความแตกต่างของพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ มีผลต่อสุขภาวะของเด็ก 

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่แม่ขาดการศึกษา เด็กที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย และเด็กที่อาศัยในครัวเรือนยากจนมาก มักขาดสารอาหารมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็นคิดเป็น 19% 18% และ 16% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศที่ 13% 

ด้วยเหตุนี้ การชี้แนะวิธีการแก้ปัญหาและการขอความร่วมมือจึงใช้ไม่ได้ผลมากนัก สะท้อนจากตัวเลขผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2564 ที่พบว่า มีเด็กเตี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% จากเดิมในปี 2563 มีเพียง 6% ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 ปีที่กล่าวไป ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 5% 

ฉะนั้น ค่าเฉลี่ยการดื่มนมที่ต่ำของคนไทยอาจไม่ใช่เพียงแค่พฤติกรรมที่ว่าชอบหรือไม่ แต่ยังหมายถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลให้การเข้าถึงปริมาณนมหรือสารอาหารอื่นๆ ที่เหมาะสมนั้นกลายเป็นเรื่องยากอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น  

----------------------------------------

อ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข

ฐานเศรษฐกิจ

หทัยทิพย์ ชัยประภา 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

ELVIRA 

Thai PBS