"ไทย" เตรียมนำร่องอาเซียน ใช้เครื่องตรวจ "มะเร็งตับ" ผลิตในญี่ปุ่น

"ไทย" เตรียมนำร่องอาเซียน ใช้เครื่องตรวจ "มะเร็งตับ" ผลิตในญี่ปุ่น

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ภายในปีงบประมาณ 2567 ทางการไทยเตรียมนำเครื่องตรวจหา "มะเร็งตับ" ที่ผลิตในญี่ปุ่น มาใช้ตรวจหาโรคซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสตรวจพบเนื้อร้ายตั้งแต่เนิ่น ๆ

เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ รายงานวันนี้ (8 มิ.ย.) ว่า บริษัทฟูจิฟิล์ม คอร์ป ที่ทำธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมนำเครื่องนี้มาใช้งานในประเทศไทย ช่วงปีงบประมาณ 2567 โดยเป็นโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ฟูจิฟิล์มคาดหวังว่า การตรวจหามะเร็งตับด้วยเครื่องแบบนี้จะได้รับการรวมไว้ในแนวทางการรักษาโรคของไทย เพื่อให้ในที่สุดแล้วผู้ป่วยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกัน และหวังให้ไทยเป็นต้นแบบการใช้งานเครื่องนี้ ก่อนขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน

ปัจจุบัน การตรวจหามะเร็งเซลล์ตับในญี่ปุ่นใช้วิธีอัลตราซาวด์และการหาสารบ่งชี้มะเร็ง 3 ชนิด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุก 3 เดือนสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง และทุก 6 เดือนสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่ำ

ขณะที่ไทยใช้วิธีอัลตราซาวด์และการหาสารบ่งชี้มะเร็งเพียงชนิดเดียว ส่งผลให้อัตราการตรวจพบโรคระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนมีความแตกต่างกันมาก

ฟูจิฟิล์มเปิดเผยว่า ผู้ป่วยในญี่ปุ่นมักตรวจพบเนื้องอกมะเร็งเซลล์ตับแต่เนิ่น ๆ ขณะมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร แต่ผู้ป่วยในอาเซียนมักพบเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตรแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยระยะแรกจะได้รับการรักษาแบบจำเพาะเพื่อให้หายขาด เช่น การผ่าตัด การใช้คลื่นวิทยุทำลายเนื้องอก ขณะที่ผู้ป่วยเนื้องอกใหญ่กว่า 3 เซนติเมตรมักได้รับการดูแลแบบประคับประคอง เช่น การให้เคมีบำบัดผ่านหลอดเลือด