คลินิก EIDARIC รับมือ "โควิด-19" ลดเสี่ยง "โรคอุบัติใหม่"
“รพ.เมดพาร์ค” เปิดคลินิก “โรคอุบัติใหม่” และ “โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน” (EIDARIC) สร้าง Dual System ลดความเสี่ยงและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นแต่ยังพบผู้ป่วยผลเป็นบวก จากการคัดกรองใน รพ. กว่า 52%
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 โรงพยาบาลเมดพาร์ค เตรียมพร้อมรับมือ โรคอุบัติใหม่ เปิด คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EMERGING INFECTIOUS DISEASES & ACUTE RESPIRATORY INFECTION CLINIC – EIDARIC) หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางมากขึ้นทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ หรือจากนักท่องเที่ยวที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา (Medical Tourism) โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มาร่วมในพิธี
ทั้งนี้ การจัดตั้งคลินิก EIDARIC ไม่ใช่เพียงแต่รองรับ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังพบการแพร่ระบาดและกลายพันธุ์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย มาตราการคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการตามอาการเบื้องต้นที่คลินิก EIDARIC จะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ญาติ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลและสังคมโดยรวม
ยังพบผู้ป่วย หลังคัดกรอง
“ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้สถานการณ์ โควิด-19 ภาพรวมของประเทศจะลดลง แต่ต้องยอมรับว่าเวลาผู้ป่วยลดไม่ได้ลดเท่ากันหมดทั้งประเทศ บางพื้นที่ ก็ยังคงพบผู้ป่วยเป็นธรรมชาติของโรค ที่ รพ.เมดพาร์ค ประเมินความเสี่ยงตลอดเวลากว่า 2 ปี ว่าผู้ป่วยที่มารับบริการมีผลตรวจเป็นบวกจำนวนเท่าไร
"เห็นแนวโน้มว่า ช่วงเดลต้า ผู้ป่วยที่ตรวจคัดกรองพบผลตรวจเป็นบวก 32.5% ขณะที่ช่วงโอมิครอนมีทั้งหมด 8 พีค แต่ละพีคอยู่ราว 20-23% หลังจากที่เคสลดลง ปรากฏว่าคนที่มาตรวจคัดกรองที่ รพ.เมดพาร์ค ตลอดเดือน พ.ค. ไม่ได้น้อยลงในแง่ของเปอร์เซ็นต์ พบผลบวกอยู่ที่ประมาณ 37% และปัจจุบันอยู่ที่ 30%"
ปริมาณจำนวนผู้ป่วยที่มาตรวจคัดกรองน้อยลงเพราะคนเริ่มไม่กลัว แต่สัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็น โควิด-19 สูงขึ้นในส่วนของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ รพ.เมดพาร์ค ซึ่ง รพ.แต่ละแห่งอาจจะมีข้อมูลแตกต่างกัน เป็นที่มาของการเปิด คลินิก EIDARIC เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของตัวอาคาร
"ช่วงที่เราคิดว่าทุกอย่างสงบลง คือ ช่วงที่ยากที่สุด เพราะช่วงที่ระบาดเรารู้ว่าต้องสู้ ต้องทำเต็มที่ พอช่วงเวลาที่ผู้ป่วยลดลง แต่ลดลงไม่เท่ากัน การที่เรากำหนดมาตรการลดหย่อนจะเป็นความเสี่ยง"
คลินิก EIDARIC มีพื้นที่ความดันลบในส่วนของผู้ป่วย และพื้นที่ความดันบวกสำหรับบุคลากร ความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย ระบบ One-stop Service แต่หากผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ แต่ไม่ประสงค์จะตรวจ RT-PCR เราไม่ปฏิเสธการรักษา เรายังคงรักษาแต่ให้รักษาที่ คลินิก EIDARIC เพื่อความปลอดภัยทุกฝ่าย
ตรวจพบผลบวกกว่า 52%
ตั้งแต่เปิด คลินิก EIDARIC มา 51 วัน (5 พ.ค. – 25 มิ.ย. 65)
- มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,013 ราย เป็นคนที่มีอาการที่เข้าข่าย ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาการคล้ายโควิด-19
- ในจำนวนนี้ 735 ราย อนุญาตให้ตรวจ RT-PCR
- พบว่า 387 ราย มีผล RT-PCR เป็นบวก หรือราว 52% ตัวเลขเหล่านี้เราตามมาตลอดในช่วง 51 วัน แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มยังไม่นิ่ง
ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ทำให้นิ่งเฉยไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบที่จะให้ความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในตัวอาคาร ขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย สองส่วนจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล วิธีเดียวคือ แยกเขาออกจากกัน ดังนั้น คลินิก EIDARIC เป็นการแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกจากกัน คนที่ไม่เป็นโควิด-19 ก็สามารถเข้าสู่ รพ. ด้วยความปลอดภัย คนที่เป็นโควิด-19 ก็ได้รับการรักษาแบบครบวงจร One-stop Service เสียเวลาน้อย ได้รับการรักษาจากตรงนี้โดยไม่ต้องเข้าสู่ตัวอาคาร หรือหากใครที่พบเชื้อและต้องนอน รพ. จะมีรถเข็นที่เป็นความดันลบพาเข้าไปยังห้องตรวจอย่างปลอดภัย
"ทั้งนี้ แม้สถานการณ์จะดีขึ้น รพ.ต้องมีการวางมาตรการเชิงรุก ไม่รอให้มีปัญหา ไม่เช่นนั้นจะแก้ไม่ทัน เราต้องการป้องกันไม่ให้มีปัญหา เพราะอย่าลืมว่าอีกหลายมิติ หากปล่อยให้มีการติดต่อระหว่างผู้ป่วยโควิด-19 และ ผู้ป่วยทั่วไปใน รพ. ความรับผิดชอบก็คือ รพ. มิติเหล่านี้ เป็นค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะคน เงิน เวลา หากเราไม่ป้องกันให้ดี ในอนาคตไม่รู้ว่าจะเจอเชื้ออีกกี่แบบ"
รับมือเปิดประเทศ
สำหรับ โอมิครอน BA.4 BA.5 "ผศ.นพ.มนต์เดช" อธิบายว่า ในสหรัฐ เดือนที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 0.3% เดือนนี้พบผู้ป่วย 13% ขณะที่โปรตุเกส แอดมินชันเพิ่มขึ้น 80% แอฟริกาใต้ แอดมินชันเพิ่มขึ้น 50% ทั้งหมดเป็นเพราะ BA.4 และ BA.5 ขณะที่ในประเทศไทย มี BA.4 BA.5 ไม่เกิน 1%
ถามว่านั่นหมายความว่าเราไม่ควรระมัดระวังหรือไม่ ในเมื่อเราเปิดให้นักท่องเที่ยวโปรตุเกส แอฟริกาใต้ สหรัฐ และยุโรปอีกหลายสิบประเทศเข้าประเทศได้ ดังนั้น เรามี 2 ทาง คือ ป้องกัน และ รอให้เกิดก่อน เราจะเอาแบบไหน ในฐานะสถานพยาบาล เรานั่งรอไม่ได้ ไม่ว่าอุบัติการณ์ของโรคจะต่ำหรือสูง ก็ต้องให้ความมั่นใจไม่ว่าตัวเลขจะออกมาเท่าไหร่ก็ตาม ผู้ป่วยที่มารักษาที่นี่ต้องมั่นใจว่าเราแยกคนเหล่านี้ออกจากกันแล้ว มีความปลอดภัย สามารถเข้ามาใน รพ.ได้ เป็นคอนเซปต์ที่เราทำ ไม่ว่าโควิด-19 จะเป็นเรื่องชั่วคราวหรือถาวร ก็ยังคงต้องป้องกัน
"การระบาดครั้งนี้สอนให้เราต้องทำอะไรมากขึ้นกว่าเดิม เราจะทำเท่าเดิมไม่ได้ หากอยากปลอดภัยต้องทำมากกว่าเดิม บนพื้นฐานของความพอดี รวมถึงการรองรับโรคอุบัติใหม่ เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าโรคอุบัติใหม่จะติดต่อกันแบบไหน ต้องตั้งรับไว้ก่อน รวมถึงพร้อมสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ในการช่วยรัฐบาลในอนาคตหากมีโรคประหลาดเกิดขึ้น เพราะ รพ.เมดพาร์คมีระบบ และเครื่องมือพร้อม เรายินดีขยายขอบเขตการทำงานเพื่อให้ประเทศปลอดภัยมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า โรคซาร์ส หรือ เมอร์ส ที่ผ่านมา คนที่นำโรคเข้ามาส่วนใหญ่จะเข้ามาใน รพ.เอกชน หากเราไม่ทำอะไรเลยจะเกิดอะไรขึ้น" ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าว
ระบบ One-stop Service
ด้าน "นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช" กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า เรามีปณิธานที่จะรักษาโรคยากและซับซ้อน จึงต้องทำให้โรงพยาบาลปลอดภัยและสะอาดมากที่สุด เพื่อให้คนไข้ไม่ถูกรบกวนจากภาวะความเสี่ยงของการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ต่างๆ มีระบบการจัดการแบบ Dual System แยกผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงสูงออกจากผู้ป่วยทั่วไป ให้เข้ารับการรักษาที่ คลินิก EIDARIC ที่ตั้งอยู่ภายนอกอาคารโรงพยาบาล
และยังเป็นห้องความดันลบ (Negative Pressure) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อและผู้เข้ารับบริการทุกท่านสามารถมั่นใจได้ว่าการมาโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และจะได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางด้วยความสบายใจ
- คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) เป็นคลินิกความดันลบที่สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อโรคภายในคลินิกได้
- มีการบริหารจัดการแบบ One-stop Service
- จัดสรรพื้นที่ห้องตรวจสำหรับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
- โดยผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ผู้ชำนาญการ ตรวจวินิจฉัย RT-PCR อย่างรวดเร็ว
- เอ็กซ์เรย์ปอด รับยาและใบนัดทั้งหมดได้ในที่เดียว
- ภายในคลินิก EIDARIC ยังติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อความสะดวกสบายของผู้เข้าใช้บริการ
- ติดตั้งระบบกรองอากาศ (HEPA Filter) เพื่อกรองอากาศภายในคลินิกก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
"ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน ชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมดพาร์คได้ อย่างปลอดภัยและมั่นใจ" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย