เช็กอาการ "ติดโควิด" ซีซั่นนี้ ใครไม่รอด ! เข้าระบบรักษาอย่างไร
สถานการณ์ "โควิด-19" ที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดไป การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ทำให้ยังสามารถพบผู้ติดเชื้ออยู่ ดังนั้น หากใครไม่รอดซีซั่นนี้ ต้องเข้าระบบการรักษาอย่างไร
แม้ว่า สถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศขณะนี้จะผ่านช่วงวิกฤติ โดยล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 65 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,761 ราย และ เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่าประเทศไทยสามารถพ้นการระบาดใหญ่ตามแผนที่กำหนด แต่อาจพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ได้และอยู่ในการควบคุม
ขณะเดียวกัน การเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ปลดล็อก "หน้ากากอนามัย" และ "เปิดประเทศ" รวมถึงการพบ สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงพบโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวระบาดในไทยแล้วกว่าร้อยละ 45
แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วและรุนแรงขึ้น แต่ก็อาจยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ เมื่อโควิดไม่ได้หายไป เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไรให้ปลอดภัย ขณะเดียวกัน สธ. แนะว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ โดยหลังเข็ม 3 สามารถฉีดได้ทุก 4 เดือน
โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พบผลตรวจเป็นบวก หลังจากเดินทางเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 170 ของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ICEB) และ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รมว.สธ.ติดโควิด! "อนุทิน" ลาประชุม ครม. หลังปฏิบัติภารกิจที่ฝรั่งเศส-สวิสเซอร์แลนด์
เช็กอาการโควิด BA.4 และ BA.5
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก ประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" BA.4 BA.5 เผยอาการของผู้ป่วย จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขของฝรั่งเศส โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยจำนวนใกล้เคียงกันคือประมาณ 280 - 290 คน โดยอาการที่พบมากกว่า 50% ของผู้ป่วย คือ
- อ่อนเพลีย
- ไอ
- ไข้
- ปวดศีรษะ
- น้ำมูกไหล
เป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจถี่ และ หายใจลำบาก พบได้ในกลุ่ม BA.4/BA.5 เช่นเดียวกัน กลุ่มอาการทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสียก็พบได้มากกว่าในกลุ่ม BA.4/BA.5
แต่ในรายงานก็เขียนไว้ว่า ในบรรดากรณีศึกษาของการติดเชื้อ BA.4 หรือ BA.5 นั้น การรักษาในโรงพยาบาล 12 ครั้ง ไม่มีการรับผู้ป่วยวิกฤติ และไม่มีรายงานการเสียชีวิตในบรรดาผู้ป่วยในโรงพยาบาล 10 ราย มีปัจจัยเสี่ยงและระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 5 วัน ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่เป็นข่าวดี เพราะ BA.4 / BA.5 อาจไม่ใช่ไวรัสโอมิครอนที่เปลี่ยนแปลงไปแบบอ่อนเชื้อลง แต่ภูมิจากร่างกายที่ได้รับวัคซีนกันมายังเพียงพอต่ออาการรุนแรงได้อยู่
ติดโควิด-19 ยังรักษาฟรีหรือไม่
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 การรักษาผู้ติด โควิด-19 จะเป็นไปตามสิทธิรักษาพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาฟรีได้ใน รพ. ที่แต่ละคนมีสิทธิ์อยู่ แต่หากมีอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามเกณฑ์ของการรักษาฟรีทุกที่(UCEP) ก็ยังสามารถรักษาฟรีได้ทุกที่เช่นเดิม แต่หากต้องการอยู่ใน รพ.อื่นที่นอกเหนือจากสิทธิ์รักษาฟรีของตนเอง ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ขณะที่ ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ตั้งแต่ 16 มีนาคม 2565 หลังยกเลิก UCEP (เจ็บป่วยฉุกเฉิน) โควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย) ผู้ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละสิทธิการรักษา เข้ารักษาโควิด ดังนี้
กลุ่มสีเขียว
- ไม่มีอาการ
- มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป
- ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส
- เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก
- มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง
รักษากับสถานพยาบาลตามสิทธิด้วยแนวทาง
- ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (เจอ แจก จบ) หรือ
- รักษาที่บ้าน (Home Isolation)
หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่กลุ่มสีเหลือง/แดง
ส่งต่อ รพ.ที่สามารถดูแล (ใช้สิทธิ UCEP Plus ได้)
สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.)
นอกจากไปที่สถานพยาบาลประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้ ยังไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (ไม่ใช้ใบส่งตัว)
ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ
- สถานีอนามัย
- รพ.สต.
- หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล
- โรงพยาบาลประจำอำเภอ-จังหวัด
- ศูนย์สุขภาพชุมชน
- ศูนย์บริการสาธารณสุข
- รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
- รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. ดูรายชื่อ คลิก
- ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ดูรายชื่อได้ที่ คลิก
- แอป Spring Up ดูแลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับ กู๊ดด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) นำร่องเฉพาะ กทม.-ปริมณฑล
สิทธิประกันสังคม
- รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง (ดูรายชื่อได้ที่นี่ คลิก)
- สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ดูรายชื่อได้ที่ คลิก
สิทธิข้าราชการ
- สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง
- รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. ดูรายชื่อได้ที่ คลิก
- รวมถึงร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ดูรายชื่อได้ที่ คลิก
- แอป Spring Up ดูแลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับ กู๊ดด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) นำร่องเฉพาะ กทม.-ปริมณฑล
กรณีกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา
- กลุ่ม 608
- หญิงตั้งครรภ์
- เด็กอายุ 0-5 ปี
- คนพิการ
- ผู้ป่วยติดเตียง
โทร. 1330 กด 18 ประเมินอาการเพื่อเข้าระบบรักษาตามอาการต่อไป หากมีอาการรุนแรงเข้าสู่ระบบการประสานหาเตียง (เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยติดต่อสถานพยาบาลที่เคยไปใช้บริการเป็นประจำไว้ด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือและลดการรอคอย)
ติดต่อ
- สปสช. 1330
- ประกันสังคม 1506
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426
ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย
- ปอดอักเสบ ไอแล้วเหนื่อย
- อ่อนเพลีย ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- อาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
- เด็กเล็กซึม หายใจลำบาก กินนม/อาหารน้อยลง
- กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า> 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป)
ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
- หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค
- แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก
- ปอดอักเสบรุนแรง
- อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง
- ไข้สูงกว่า 39 องศาต่อเนื่อง
- ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
สีเหลือง-สีแดง เข้าเกณฑ์ UCEP Plus
- รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิรักษาของท่าน
- หรือ UCEP Plus เข้ารักษาใน รพ.ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ (รัฐ/เอกชน) ไม่เสียค่าใช้จ่าย รพ.ดูแลรักษาจนหายหรือส่งต่อไป รพ.อื่นได้หากศักยภาพไม่เพียงพอ หรือส่งต่อให้ รพ.ในเครือข่ายที่จัดไว้
***ขั้นตอนนี้ ผู้ป่วย/ญาติปฏิเสธ ต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
หมายเหตุ
- กรณีผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง/แดง มีประกันชีวิต ให้ใช้สิทธิตามประกันชีวิตก่อน
- กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่ม 608, หญิงตั้งครรภ์, เด็กอายุ 0-5 ปี, คนพิการ, ผู้ป่วยติดเตียง โทร. 1330 กด 18 ประเมินอาการเพื่อเข้าระบบรักษาตามอาการต่อไป หากมีอาการรุนแรงเข้าสู่ระบบการประสานหาเตียง
ติดต่อ
- สพฉ. 1669 เจ็บป่วยฉุกเฉิน
- สปสช. 1330 สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
- ประกันสังคม 1506
- สายด่วนกรมบัญชีกลาง 02-2706400 วันและเวลาราชการ
- สอบถามสิทธิ UCEP Plus 028721669
แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
วานนี้ (27 มิ.ย. 65) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 ว่าในประเทศไทย จากการส่งตรวจสายพันธุ์ยังพบสัดส่วนในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย และจากการเฝ้าระวังเรื่องการทำให้เกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะเช่นนั้น
"สิ่งสำคัญคือ พบว่า BA.4/BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม โดยผู้ที่ฉีด 3 เข็มแล้ว หากถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือน ควรมาฉีดกระตุ้นซ้ำ เพราะมีข้อมูลในต่างประเทศว่าผู้ป่วยจากสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาการจะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต"
การขับเคลื่อนโรคโควิด 19 สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะเป็นไปตามแผน ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโรคเกิดขึ้น แต่อาจมีเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาบ้างแล้วลดลงไป ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงยัง ต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตที่สำคัญ
ขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว มีประชาชนได้ฉีดเข็มแรก 60 ล้านคน ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี อย.สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดได้แล้ว ในประเทศไทยหากได้รับการอนุมัติจาก อย. ไทยแล้ว จะมีการหารือถึงเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสมต่อไป