1 ก.ค. ไทยยังมีผู้ป่วย "โควิด" เข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่

1 ก.ค. ไทยยังมีผู้ป่วย "โควิด" เข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่

1 ก.ค. 2565 สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หมายความว่า การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว เนื่องจากโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้เพียงพอ

การที่โรค “โควิด-19” จะเป็นโรคประจำถิ่นนั้นได้นั้นต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ประกาศ ส่วนวันที่ 1 ก.ค. 2565 สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หมายความว่า การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว เนื่องจากโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ แต่จะยังคงพบผู้ป่วยอยู่ อาจเป็นคลัสเตอร์เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ 

การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจะยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 ขณะนี้ประชาชน 60 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรกแล้ว ยอดฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดส โดยในอนาคตคาดว่าจะมีการวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปด้วย หากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) สถานพยาบาลจะทำการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มฟังก์ชันใหม่ใน “หมอพร้อม” เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป สามารถ “ประเมินภาวะลองโควิด” ได้ด้วยตนเอง 

หากพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นภาวะลองโควิด อาทิ ผมร่วง เจ็บหน้าอก ใจสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยเรื้อรัง ไอเรื้อรัง สมองล้า ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ฯลฯ ประเมินเบื้องต้นด้วยตนเองผ่าน “หมอพร้อม Chatbot”

หากมีอาการรุนแรงจะแนะนำให้ประเมินซ้ำอีกในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ถ้ากระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจรักษาเพิ่มเติมได้ 

 

การเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ของไทย มาพร้อมกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบในคนต่างชาติประมาณ 40% ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมา

มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าจะรุนแรงมากกว่า และยังพบว่าทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำให้ฉีดเข็ม 4 ในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า สามารถฉีดเป็นเข็ม 5 ได้ เพราะมีข้อมูลที่ได้ศึกษาจากประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันติดเชื้อได้ 25% แต่ถ้าฉีด 4 เข็มจะเพิ่มสูงถึง 70-75% 

อย่างไรก็ตามในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแผนการจัดยาที่เปรียบเสมือนเป็นวัคซีน ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-Acting Antibody (LAAB) เพื่อมาใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง จะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึง 83% 

โดยมีการปรับสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เปลี่ยนจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าบางส่วน โดยอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม. อนุมัติไว้แล้ว และไม่เสียงบประมาณเพิ่มเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องฉีดทุกๆ ปีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน