จับตา! "โควิดระลอกใหม่" ในไทย ผู้ป่วยใส่ท่อเกือบ 300 ราย หลังปอดอักเสบเพิ่ม

จับตา! "โควิดระลอกใหม่" ในไทย ผู้ป่วยใส่ท่อเกือบ 300 ราย หลังปอดอักเสบเพิ่ม

สถานการณ์ "โควิดระลอกใหม่" ในไทย "สธ." เผย จับตาผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ยอด "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 เพิ่มขึ้นเช่นกัน ครองสัดส่วนเกินครึ่งทั่วประเทศแล้ว

ประเด็น "โควิดระลอกใหม่" ในไทย และโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย "BA.4 / BA.5" ล่าสุดวันที่ 4 ก.ค. 65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทย ระบุว่า อัตราการเสียชีวิต สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การฉีดวัคซีน หลายประเทศแม้จะมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างสูงก็ยังมีการติดเชื้อสูงได้ สำหรับในประเทศไทยอยู่ในระยะที่พบการระบาดเพิ่มเติมหลังจากโอมิครอนระบาดของสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ดังนั้น BA.4 / BA.5 ก็จะมีผลตามมาบ้าง

เมื่อดูการครอบคลุมวัคซีน แม้บางประเทศจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุม แต่ผู้เสียชีวิตหลักหลายสิบราย อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่ฉีดนานแล้ว และมาตรการป้องกันโรคย่อหย่อนไปพอสมควร หลายประเทศเลิกสวมหน้ากากอนามัย อาจจะต้องกลับมาใส่หน้ากากใหม่ การครอบคลุมการฉีดวัคซีนเป็นตัวช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อที่ปริมาณมาก โอกาสป่วยน้อยลง และหากป่วย อาการรุนแรงก็จะลดลง เมื่อดูกราฟผู้เสียชีวิตในออสเตรเลียไม่เยอะเพียงหลักสิบต้น ๆ

ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ ระบุว่า ออสเตรเลีย มีผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.4 สัดส่วน 14% และ BA.5 สัดส่วน 21% ขณะที่ตัวเลขฉีดวัคซีนครอบคลุม 84% ของประเทศ

พบปอดอักเสบเพิ่ม จับตา! ตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อ

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 4 ก.ค. นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,995 ราย เสียชีวิต 18 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 677 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มเพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยรายใหม่ แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจยังไม่เพิ่มมาก ยังทรงตัว เป็นไปได้ว่าปอดอักเสบ อาจจะต้องรอสักระยะถึงจะมีอาการหนัก

จับตา! \"โควิดระลอกใหม่\" ในไทย ผู้ป่วยใส่ท่อเกือบ 300 ราย หลังปอดอักเสบเพิ่ม

ขณะเดียวกัน ผู้เสียชีวิตคงตัวแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ยังทรงตัว ผู้ป่วยรักษาใน รพ.ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น ในระบบ HI จากที่ในระดับหมื่นต้น ๆ ตอนนี้ 14,780 ราย แสดงว่า การแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างระหว่างครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิด ติดเชื้อและลงทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยระบบ OPSI เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากประมาณ 191,000 ราย เป็น 207,643 ราย

แนวโน้มเสียชีวิตรายสัปดาห์ลดลง

เมื่อดูสถานการณ์ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. - 2 ก.ค. 65 พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ 675 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 290 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมสัปดาห์นี้ 106 ราย จากสัปดาห์ที่ผ่านมา 161 ราย แนวโน้มลดลง ผู้ป่วยรายใหม่ที่มา รพ.รับการรักษา 16,000 ราย เฉลี่ยแล้ว 2,000 กว่ารายต่อวัน

สถานการณ์ผู้ป่วยที่มารับการรักษาใน รพ. สัปดาห์ที่ 16 - 26 พบว่า สัปดาห์ที่ 24 - 26 สถานการณ์คงตัว แต่สถานการณ์รายวันดูสูงขึ้นเล็กน้อย อัตราครองเตียงภาพรวมทั้งประเทศ 10% ผู้ลงทะเบียน OPSI (ATK) ของ สปสช. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 207,643 ราย จาก 190,000 ราย

โอมิครอน BA.4 / BA.5 "เกินครึ่ง"

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวในวันจันทร์ (4 ก.ค.) เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง โควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 หลังจากมีการระบาดของ BA.4 / BA.5 จากการตรวจทุกสัปดาห์ พบว่า ปัจจุบัน "โอมิครอน" ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ขณะที่เดลต้าหายไปเกือบหมด เป็นโอมิครอน 100%

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจสัดส่วนสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน ระห่างวันที่ 25 มิ.ย. - 1 ก.ค. 65 จากกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย พบว่า

  • สายพันธุ์ B.1.1.529 จำนวน 2 ราย
  • สายพันธุ์ BA.1 จำนวน 10 ราย 1.1% 
  • สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 447 ราย 47.3%
  • สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 489 ราย 51.7%

กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จาก 46 ตัวอย่าง

  • สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 36 ราย 78.3%
  • สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 10 ราย 21.7%

กลุ่มอื่นๆ ในประเทศ จาก 900 ตัวอย่าง

  • สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 453 ราย 50.3%
  • สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 437 ราย 48.6%
  • สายพันธุ์ BA.1 จำนวน 10 ราย 1.1%

จับตา! \"โควิดระลอกใหม่\" ในไทย ผู้ป่วยใส่ท่อเกือบ 300 ราย หลังปอดอักเสบเพิ่ม

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า เมื่อดูรายสัปดาห์ จะเห็นว่าเริ่มตั้งแต่ 6.7% กว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มมาที่ 46.3% และ 51.7% จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน กระโดดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์นี่ก็ค่อย ๆ เพิ่ม หากเป็นแบบนี้คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นาน BA.4 / BA.5 ครองเป็นส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในไทย

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ เสริมว่า ยังมีการถอดรหัสพันธุกรรม โดยใช้เวลารู้ผลราว 1 สัปดาห์ พบว่า ปัจจุบัน BA.4 / BA.5 มีประมาณเกือบ 1,000 ราย ในประเทศไทย แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนจริงๆ มากกว่า หากสัดส่วนเยอะจากสายพันธุ์หนึ่ง แสดงว่ากำลังเบียดสายพันธุ์เก่าออกไป