เช็คหลักเกณฑ์ใหม่ ปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น ยันผู้ป่วยได้รับบริการฟรี

เช็คหลักเกณฑ์ใหม่ ปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น ยันผู้ป่วยได้รับบริการฟรี

มติบอร์ด สปสช. เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น กลับไปเบิกจ่ายตามระบบปกติ มีผล 4 ก.ค. 2565 นี้เป็นต้นไป ยืนยันประชาชนได้รับการดูแลรักษาพยาบาลเหมือนเดิม พร้อมเปิด Home ward ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

จากสถานการณ์โรค โควิด-19 ในขณะนี้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตอยู่ในระดับควบคุมได้  และได้มีการผ่อนคลายมาตรการทั้งการเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัด เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถถอดหน้ากากอนามัยเพื่อเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่ โรคประจำถิ่น

  • มติบอร์ด สปสช.จ่ายชดเชยหลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

วันนี้ (4 ก.ค.2565) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี  เลขาธิการสปสช. แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) “มติบอร์ด สปสช.ต่อแนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 หลังปรับเป็นโรคประจำถิ่น” ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือระยะ Post-Pandemic 

คณะกรรมการฯ ได้มีมติตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. เป็นต้นไป ทาง สปสช.จะเสนอให้ใช้งบกองทุนปกติ มาสนับสนุนค่าบริการต่างๆ  และยังคงมีการบริการโควิด-19 ให้แก่พี่น้องประชาชนเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนการใช้งบประมาณ จากเดิมต้องไปของบตามพ.ร.บ.เงินกู้  แต่ตั้งแต่เดือนก.ค. จะใช้งบปกติ ซึ่งจะมีความเพียงพอในการให้บริการต่างๆ 

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติขยายบริการโควิด-19 ในเรื่อง Home ward หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดเสมือนที่บ้าน หรือมีการดูแลคล้ายๆ กับ Home Isolation ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว รวมถึงมีการเพิ่มเติมอีก 6 โรค เช่น  โรคทางเดินปัสสาวะ โดยจะเป็นการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน แทนที่ผู้ป่วยจะต้องมานอนโรงพยาบาล เป็นต้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เข้าใจ "โรคประจำถิ่น" หลัง 3 ประเทศ 1 รัฐ ปรับมาตรการอยู่ร่วมโควิด

                      “อนุทิน” ระบุโควิด-19  ผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตยังอยู่ระดับควบคุมได้

                     โควิด สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 พบแล้วกว่า 51.7% คาดครองไทยอีกไม่นาน

 

  • สปสช.ยืนยัน ผู้ป่วยโควิดได้รับบริการเหมือนเดิม

"Home ward"  จะมีแพทย์ไปดูแลถึงบ้าน หรือใช้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine แพทย์วิดีโอสื่อสารกับคนไข้ รวมถึงจะมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล เจ้าหน้าที่พยาบาลต่างๆ ลงไปดูแล หรือนำยาไปให้ ติดตามอาการผู้ป่วยถึงบ้าน และหากมีอาการแย่ก็จะนำตัวรักษาในโรงพยาบาลทันที

“ขอให้ประชาชนมั่นใจ ว่าบอร์ด สปสช.ได้ติดตามสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด และเตรียมงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณี แม้จะเปลี่ยนโหมดการใช้เงินจากส่วนไหนก็ตาม” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า การดูแลโควิด-19 นั้น ประชาชนยังคงได้รับบริการเหมือนเดิม  มีเพียงการเปลี่ยนงบประมาณซึ่งจะเป็นเรื่องของสปสช.กับหน่วยบริการ

"สิ่งที่มีการบริการคือ ผู้ป่วยนอก ถ้าเมื่อสงสัยว่าตัวเองมีอาการ สามารถไปรับชุดตรวจ ATK ในร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ว่าติดเชื้อหรือไม่  หากมีผลตรวจเป็นบวก หรือขึ้น 2 ขีด ก็จะสามารถรับยาที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ หรือไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน  ถ้ารพ.ใกล้บ้านดูแลรักษา จะเป็นหน่วยบริการประจำ รพ.จะสามารถมาเบิกที่ สปสช. และนอกหน่วยก็สามารถเบิกได้ จะไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ"พญ.กฤติยา กล่าว 

 สำหรับการรักษาตัวตามสิทธินั้น หากป่วยโควิด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว เพราะโควิดถึงแม้อาการไม่รุนแรง แต่ถือเป็นโรคภาวะฉุกเฉิน ทุกคนสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งส่วนการบริการ HI ถ้ารพ.พร้อมให้บริการก็ยังสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้

 

  • เช็คหลักเกณฑ์ใหม่ จ่ายชดเชยบริการโควิดปรับเป็นโรคประจำถิ่น

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยครอบคลุมเฉพาะหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 ก.ค.2565 เป็นต้นไป ตามรายละเอียดดังนี้ 

1. การจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับคนไทยทุกสิทธิ ได้แก่ ค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่าบริหารจัดการศพ ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีน จะถูกยกเลิก แล้วปรับใช้สิทธิจากกองทุนสุขภาพของแต่ละกองทุนตามระบบปกติ ซึ่งในส่วนของ สปสช. หากเกิดกรณีความเสียหายหลังฉีดวัคซีน จะใช้ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการจ่ายชดเชยเบื้องต้นแทน

2. ค่าบริการดูแลรักษาผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยนอก ค่าบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่จ่ายให้หน่วยบริการจะถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นจ่ายชดเชยผู้ป่วยนอกตามระบบปกติ กรณีใช้บริการที่หน่วยบริการประจำ ค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่หากรับบริการนอกหน่วยบริการประจำ ยังมีรายการให้เบิกจ่ายเป็น กรณี ATK professional จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาท และ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 900 บาท 

กรณีผู้ป่วยใน จากเดิมที่จ่าย On Top จากระบบ DRG ได้แก่ ค่าห้องตามระดับความรุนแรงของโรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ/อุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และค่ายารักษาโควิด-19 เปลี่ยนเป็น จ่ายตามระบบ DRG จากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต ยกเลิกการจ่าย On Top ค่าห้อง และค่าอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนยารักษาโรคโควิด-19 ยังสามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขได้ต่อไป

3. ค่ายานพาหนะส่งต่อตามระยะทาง จากเดิมที่รวมค่าทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าส่งต่อตามระยะทางกรมทางหลวงตามเดิม ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ

4. ค่าบริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิม จ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และค่ายานพาหนะส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่ารถส่งต่อกรณีผู้ป่วยนอก

5. ค่าบริการกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปลี่ยนเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอก และค่าบริการผู้ป่วยในตามระบบปกติ ยา IVIG จ่ายตามระบบ VMI

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ แต่ปรับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น

รวมถึงการแจก ATK ที่ร้านขายยาที่เดิมให้ประชาชนทุกสิทธิรักษาที่มีอาการ ปรับเป็นเฉพาะประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยติดโควิด-19 สามารถขอรับ ATK ได้ฟรีที่ร้านยาเพื่อตรวจด้วยตนเอง

ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ อยู่ระหว่างการหารือกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าหลังปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ยังจะให้ประชาชนตามสิทธิรักษาของตนมารับ ATK หรือยาที่ร้านยาได้หรือไม่ 

  • ยืนยันปรับเกณฑ์ใหม่ แต่ประชาชนได้รับบริการเหมือนเดิม

"การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ไม่ใช่การลอยแพประชาชน ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิมตามสิทธิการรักษาของตน"เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ต่อไปเมื่อประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท เมื่อมีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกตามแนวทางเจอ แจก จบของกระทรวงสาธารณสุข หรือโทร.ประสานร้านยาเพื่อรับยาตามโครงการเจอ แจก จบที่ร้านยาได้เช่นกัน

ร้านยาจะส่งยาให้โดยไม่ต้องไปที่ร้านยา เมื่อติดโควิดแล้วไม่จำเป็นต้อง โทร.แจ้งสายด่วน สปสช. 1330 แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทร.มาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลง ต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาได้เช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์