ภาวะ Post Covid-19 Syndrome กับการทานอาหาร ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย

ภาวะ Post Covid-19 Syndrome กับการทานอาหาร ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย

ผู้ที่หายจากโรค "โควิด-19" อาจหลงเหลืออาการบางอย่าง ที่เรียกว่า ภาวะ Post Covid-19 Syndrome โดยผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น และเลือกรับประทานอาหารที่ปรับสมดุลร่างกาย

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิทย์ อัครเสรีนนท์
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช ให้ความรู้เกี่ยวกับ ภาวะ Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของผู้ป่วยที่หายจากโรค Covid-19 แต่ยังคงมีอาการอยู่   แม้ผลตรวจร่างกายจะไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้วก็ตาม ซึ่งอาการที่พบได้แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่

  • เหนื่อยล้า
  • ไม่มีแรง
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียน
  • ไม่มีสมาธิ
  • ไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รส
  • ใจหวิว
  • ใจสั่น
  • ใจเต้นเร็วและแรง
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • หายใจถี่
  • ไอ
  • เจ็บตามข้อหรือกล้ามเนื้อ
  • เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ
  • และซึมเศร้า วิตกกังวล

 

โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่นานมากกว่า 4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อครั้งแรก หรืออาจเรื้อรังต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์

 

ภาวะ Post Covid-19 Syndrome เปรียบเสมือนภาวะ “ลมปลายไข้" ตามทฤษฎีการ แพทย์แผนไทย กล่าวคือ ภาวะความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มักเกิดขึ้นหลังการฟื้นไข้ หรือหายจากความเจ็บป่วยบางอย่าง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการบริหารปอด และฝึกการหายใจ

 

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการดูแลสุขภาพได้ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น การรับประทานอาหารถือเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้เพื่อปรับสมดุลธาตุในร่างกาย

เมนูแนะนำ สำหรับผู้มีภาวะ Post Covid-19 Syndrome

 

สำหรับผู้ที่เบื่ออาหาร

  • แนะนำเมนู "มะระผัดไข่" เนื่องจากมะระมีรสขม มีสรรพคุณปรับสมดุลของธาตุไฟช่วยลดความร้อนในร่างกาย บำรุงน้ำดี และช่วยเจริญอาหาร

 

"แต่เมนูนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีเสมหะในลำคอ เนื่องจากรสมันที่มาจากไข่และน้ำมันอาจทำให้เสมหะเพิ่มมากขึ้นได้"

 

สำหรับผู้ที่มีเสมหะในลำคอ

  • แนะนำให้รับประทานเป็น แกงจืดมะระ แทนได้

 

ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่มีกำลัง

  • แนะนำเมนู ยำถั่วพูใส่กุ้ง ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และผัดผักรวมมิตรใส่เห็ด เป็นเมนูที่มีสมุนไพรรสมันเป็นวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ถั่วพู เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และเห็ดชนิดต่าง ๆ ซึ่งสมุนไพรรสมัน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุดิน

 

แต่เมนูเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการท้องอืด ระบบย่อยอาหารไม่ดี เนื่องจากรสมันทำให้ย่อยยาก และอาหารจำพวกถั่วทำให้เกิดลมภายในท้องได้

 

ในผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย และมีอาการท้องอืด

  • แนะนำเป็นเมนู ต้มยำปลาน้ำใส เนื่องจากมีส่วนประกอบของสมุนไพร   รสร้อน เช่น ใบมะกรูด ตะไคร้ พริก ข่า หอมแดง ที่ช่วยกระตุ้นและกระจายเลือดลมให้ไหลเวียนดีขึ้น และยังช่วยปรับสมดุลธาตุลมและไฟ นอกจากนี้เนื้อปลายังเป็นเนื้อสัตว์ชนิดย่อยได้ง่ายอีกด้วย

ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ

  • แนะนำเมนู แกงขี้เหล็ก เนื่องจากดอกและยอดอ่อนของต้นขี้เหล็ก มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้นอนหลับสบาย

 

"แต่เมนูนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการถ่ายเหลว เพราะขี้เหล็กมีฤทธิ์ระบาย จะทำให้ขับถ่ายมากเกินไปจนเกิดอาการอ่อนเพลียได้"

 

ผู้ที่มีอาการไอ

  • แนะนำ น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ และน้ำตรีผลา เนื่องจากเมนูเหล่านี้มีรสเปรี้ยว ช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ นอกจากนี้ยังช่วยดับกระหาย คลายร้อน ช่วยให้สดชื่นด้วย

 

แต่เมนูเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการถ่ายเหลว เพราะสมุนไพรรสเปรี้ยวมีฤทธิ์ช่วยระบาย อาจทำให้ขับถ่ายมากเกินไปได้

 

สำหรับผู้ที่มีอาการใจหวิว ใจสั่น วิงเวียน

  • แนะนำ ยาชงเกสรทั้งห้า ซึ่งประกอบด้วย สมุนไพรที่เป็นดอกไม้ 5 ชนิด ได้แก่ มะลิ พิกุล สารภี บุนนาค เกสรบัวหลวง เป็นพิกัดยาสมุนไพรที่มีรสหอมเย็น มีสรรพคุณ      แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน แก้ใจหวิวใจสั่น

 

แต่เมนูนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน

 

จะเห็นได้ว่าหากนำหลักการรับประทานอาหารตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้ในชีวิตประจำวันร่างกายจะได้ประโยชน์จากพืช ผัก สมุนไพร ในการปรับสมดุลธาตุในร่างกายซึ่งช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ จากภาวะ Post Covid-19 Syndrome ได้อีกด้วย

 

ขอเชิญชวนร่วมงานสัปดาห์การแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 3 หัวข้อ “สร้างสุขภาวะพิชิตลองโควิด ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย” ระหว่างวันที่ 18 - 22 กรกฎาคม 2565 ณ ศาลาศิริราช 100 ปี เยี่ยมชมบูธ และการบรรยายออนไลน์ผ่านทาง Zoom Meeting ID : 991 1793 4421 และ Facebook live ได้ที่ คลิก 
สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช โทร. 0 2419 8824