“โปรไบโอติกส์” เสริมภูมิคุ้มกันสัตว์ ส่งต่อ “ความปลอดภัยอาหาร” สู่มนุษย์

“โปรไบโอติกส์” เสริมภูมิคุ้มกันสัตว์ ส่งต่อ “ความปลอดภัยอาหาร” สู่มนุษย์

“โปรไบโอติกส์” คือ จุลินทรีย์มีชีวิตชนิดดี ที่เมื่อใช้ในปริมาณเพียงพอเหมาะสมจะส่งผลดีต่อร่างกายของผู้บริโภค นอกจากมีประโยชน์กับคนแล้ว ปัจจุบันยังมีนวัตกรรม “โปรไบโอติกส์” มาใช้ในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

ในช่วงที่โควิด-19 ดูเหมือนจะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยมากมาย และกลับมามีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะสายพันธุ์ใหม่ๆ สามารถติดต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ประชาชนใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คนออกไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตลอดจนหาวิธีรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรอให้ร่างกายรับเชื้อแล้วค่อยรักษาและการเลือกอาหารการกินที่สามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

 

ในที่นี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “โปรไบโอติกส์” (Probiotic) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตชนิดดี ที่เมื่อใช้ในปริมาณเพียงพอเหมาะสมจะส่งผลดีต่อร่างกายของผู้บริโภค โดยโปรไบโอติกส์มีจุดเด่นอย่างมากในเรื่องการปรับสมดุลลำไส้ เมื่อลำไส้ทำงานได้ดีจะส่งผลไปถึง ระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ลดภูมิแพ้ ที่สำคัญ ยังช่วยลดอาการของ “ลองโควิด” อีกด้วย

 

นพ.จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า โปรไบโอติกส์ มีส่วนในการช่วยเรื่องภูมิแพ้ ระบบหายใจ และโรคหืด จากคุณประโยชน์ที่เกิดจากการสร้างสมดุลในลำไส้ ขณะที่โควิดเองมีผลต่อระบบหายใจ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากอาการป่วยโควิด ก็อาจยังมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้า หายใจไม่อิ่มอยู่บ้าง

 

กรมอนามัย จึงแนะผู้ป่วยเลือกกินอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน จุลินทรีย์สุขภาพ หรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งนับเป็นข้อดีมากๆ ของโปรไบโอติกส์ในยุคโควิด

ขณะที่การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรไบโอติกส์อย่างสม่ำเสมอก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีอยู่ในอาหารหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ผ่านการหมัก จนทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ อาทิ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ขิงดอง หรือ กิมจิ และควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) สูง เช่น กระหล่ำปลี อะโวคาโด กล้วย กระเทียม จะช่วยให้โปรไบโอติกส์เจริญได้ดีขึ้น  

 

โปรไบโอติกส์ ก็เสริมภูมิคุ้มกันให้ไก่-หมูได้

 

เมื่อคุณสมบัติของโปรไบโอติกส์สามารถช่วยให้ร่างกายคนมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีขึ้นได้ แล้วการเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพแข็งแรงโดย เสริมภูมิต้านทานด้วยโปรไบโอติกส์ก็ย่อมทำได้เช่นกัน เป็นที่มาของ ซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ลงมือคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ด้วยจุลินทรีย์ที่ดีอย่างโปรไบโอติกส์ เพื่อตอบโจทย์สุขภาพของผู้บริโภค ภายใต้แนวคิดการผลิตอาหารปลอดภัย โดยให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ จึงนำนวัตกรรม “โปรไบโอติกส์” มาใช้ในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

 

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มการศึกษาเรื่องจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ในไก่เนื้อ โดยเก็บเชื้อจากฟาร์มทั่วประเทศเพื่อศึกษาหน้าที่และประโยชน์ของจุลินทรีย์แต่ละชนิด หลังจากนั้นได้ขยายการศึกษาต่อในสุกร จนกระทั่งได้ข้อมูลที่สามารถสร้างฐานข้อมูลของจุลินทรีย์พื้นฐานได้ จึงพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญและศึกษาเรื่องโปรไบโอติกส์มาเป็นระยะเวลานานอย่าง Elanco, Dupont, Chr. Hansen, และ Adisseo นานกว่า 5 ปี เพื่อพัฒนาและคิดสายพันธุ์โปรไบโอติกส์ที่ดีที่สุด รวมถึงเหมาะสมกับสายพันธุ์ไก่และสุกรของซีพีเอฟ

โดยการคัดโปรไบโอติกส์จาก 125,000 สายพันธุ์ นำมาสู้กับเชื้อโรคกว่า 1,200 ชนิดที่เก็บเชื้อมาจากฟาร์มทั่วประเทศ จนได้โปรไบโอติกส์ที่แข็งแรงที่สุดเพียง 9 สายพันธุ์มาผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ไก่-หมูมีสุขภาพดี แข็งแรงตามธรรมชาติ สร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน เมื่อไก่แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งโตตลอดการเลี้ยงดู ปลอดสารปลอดภัย กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ส่งผลดีไปยังสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

 

“หลักการทำงานของโปรไบโอติกส์จะเข้าไปช่วยผลิตเอ็นไซม์ย่อยอาหารในลำไส้ของสัตว์และปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรจุลินทรีย์ให้มีจุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหาร สุดท้ายก็เกิดสมดุลในร่างกาย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน ทำให้ไก่-หมูมีสุขภาพแข็งแรง โดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาเชื้อดื้อยาลงด้วย” ดร.ไพรัตน์กล่าว

 

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะมีเชื้อโรคใดกลายพันธุ์หรืออุบัติใหม่ขึ้นมาอีกเมื่อใด แนวทางที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง เริ่มต้นได้ด้วยการสร้างสมดุลลำไส้ ซึ่ง “โปรไบโอติกส์” ตอบโจทย์ได้ดี  “กินอาหารให้เป็นยา (Food as a Medicine)” นั้น ดีกว่าการกินยาเป็นอาหาร ... เสริมภูมิให้ร่างกายย่อมดีกว่าเป็นโรคแล้วค่อยรักษา