สิทธิ "พ่อลาคลอด" ช่วงเวลาสำคัญ สร้างความผูกพันครอบครัว
ความผูกพันระหว่างพ่อ และทารกแรกเกิด มีบทบาทต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก ปัจจุบัน หลายประเทศจึงให้ความสำคัญให้ "พ่อลาคลอด" เพื่อช่วยคุณแม่ และนับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความผูกพันในครอบครัว
จากกรณีที่ เฟซบุ๊ก สถานทูตสวีเดน ในประเทศไทย (Embassy of Sweden in Bangkok) เล่าเรื่องสิทธิ พ่อลาคลอด ของคุณสมชาติ สุชีเพ็ชร ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานขับรถยนต์ของสถานทูตและทำงานกับเรามาเกือบ 30 ปี สามารถใช้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้เป็นพ่อเป็นเวลา 6 เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตทุกคนยังได้รับสิทธิต่างๆ อาทิ การลาเพื่อดูแลบุตรอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่ป่วยจำนวน 10 วัน ต่อเด็กหนึ่งคน ต่อปี การลาพักผ่อนจำนวน 28 วันต่อปี วันหยุดราชการจำนวน 13 วันต่อปี และยังมี ‘ฟิก้า’ หรือการพบปะกันเพื่อดื่มกาแฟหรือชา พร้อมกับของหวานแบบสวีเดนทุกๆ วันศุกร์
พร้อมระบุด้วยว่า นี่เป็นหนึ่งในนโยบายของเราที่ใช้ปฏิบัติทั่วโลก ลูกจ้างของสถานทูตสวีเดนทั่วโลกได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพราะเชื่อมั่นว่าสภาพการจ้างงานที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศโดยรวม
ทั้งนี้ “สวีเดน” ถือเป็นประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก พ่อแม่ลางานเลี้ยงลูกได้ 480 วัน หรือ 16 เดือน แบ่งเป็น 6 เดือนแรกหลังคลอด พ่อหรือแม่สามารถใช้สิทธิลางานได้ฝ่ายละ 3 เดือน จากนั้นอีก 10 เดือนที่เหลือพ่อหรือแม่สามารถแบ่งกันใช้สิทธิได้ตามความพึงพอใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : จะดีแค่ไหนถ้า 'พ่อลาคลอด' ได้ 98 วัน
ขณะเดียวกัน ในประเทศอื่นๆ อาทิ “ฟินแลนด์” ในปี 2563 รัฐบาลได้มีการผลักดันเพิ่มวันลาคุณพ่อ เพื่อให้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น โดยได้รับค่าจ้างเป็นประมาณ 164 วัน เท่ากับวันลาคุณแม่ และคุณแม่จะได้รับวันลาเพิ่มอีกหนึ่งเดือนก่อนคลอด
ด้าน “ไอซ์แลนด์” คุณพ่อสามารถลาคลอดได้ถึง 3 เดือน และทางรัฐบาลยังแจกกล่อง Kela box ให้แก่ครอบครัวที่สมาชิกใหม่ โดยรวมของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิด เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ปรอทวัดไข้ นิทาน ผ้าห่ม อุปกรณ์อาบน้ำ ฯลฯ โดยคอลเลกชั่นจะเปลี่ยนไปทุกปี นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนกล่องเป็นเงินมูลค่า 170 ยูโรแทนได้อีกด้วย
ยูนิเซฟ พ่อลาคลอด 16 สัปดาห์
ข้อมูลจาก ยูนิเซฟ ระบุว่า เมื่อพ่อผูกพันกับทารกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิต พ่อจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเคารพตนเองและความพึงพอใจในชีวิตในระยะยาว
เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา “ยูนิเซฟ” ได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในนโยบายลาคลอดในองค์กร โดยขยายสิทธิการลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นเวลานานสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ในสำนักงานยูนิเซฟทุกแห่งทั่วโลก ถือเป็นหน่วยงานแรกขององค์การสหประชาชาติที่มีการขยายสิทธิดังกล่าวเกินกว่าสี่สัปดาห์มาตรฐาน
ไทย คุณพ่อข้าราชการ ลาได้ 15 วัน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 มีมติเห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญคือขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง จากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็น 98 วัน (เพิ่มขึ้น 8 วัน) และเมื่อครบ 98 วันแล้ว ยังสามารถลาต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนในอัตรา 50% รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน
นอกจากนี้ ร่างมาตรการดังกล่าวยังได้ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน จนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)
"โนวาร์ตีส" พ่อลาคลอด 98 วัน
สำหรับภาคเอกชนในประเทศไทย มีบริษัทที่คุณพ่อสามารถลาคลอดได้เช่นกัน ได้แก่ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ผลิตเวชภัณฑ์ระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเพิ่มนโยบายให้สิทธิ์การลาเพื่อดูแลบุตร (Parental Leave) แก่พนักงานชาย ที่มีบุตรแรกเกิดได้ 98 วัน หรือ 14 สัปดาห์ โดยยังได้รับค่าตอบแทน
นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือคลอดบุตร ซึ่งไม่ได้ให้แค่คุณแม่ที่คลอดบุตรเท่านั้น แต่หากคุณพ่อทำงานที่นี่ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากพ่อและแม่ทำงานที่โนวาร์ติสทั้งสองคน จะได้เงินช่วยเหลือ 1 ก้อน แต่สามารถลาได้คนละ 98 วัน จะลาพร้อมกันหรือไม่ก็ได้ แบ่งลาได้ 3 ช่วงใน 1 ปี เพื่อความยืดหยุ่นอยู่ที่การจัดการ พร้อมกับเตรียมห้องปั๊มนมและตู้แช่นมไว้ในที่ทำงานอีกด้วย ที่ผ่านมา มีคุณพ่อลาไปแล้วประมาณ 5 คน
"อิเกีย" ลาได้ 1 เดือน
“อิเกีย” ซึ่งถือเป็นบริษัทสัญชาติสวีเดนที่เรียกว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการเลี้ยงดูบุตรดีที่อันดับต้นๆ ของโลก ก็มีสวัสดิการให้กับคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 4 เดือนติดต่อกันโดยได้รับเงินเดือน ส่วนคุณพ่อใช้วันลาคลอดเพื่อแบ่งปันความสุขในครอบครัว และแบ่งเบาหน้าที่คุณแม่ได้นานถึง 4 สัปดาห์ และจะได้รับเงินเดือนตลอดระยะเวลาที่ลาคลอดเช่นกัน
และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 อิเกีย เป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติสวีเดน 12 แห่งที่ร่วมให้คำมั่นในการมอบวันลาเลี้ยงดูบุตรให้แก่พนักงานผู้เป็นพ่อเป็นเวลา 1 เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง ซึ่งการให้คำมั่นฯ นี้จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย Business Sweden และหอการค้าไทย-สวีเดน
"นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน และการให้โอกาสคุณพ่อในประเทศไทยได้ใช้เวลาดูแลลูกน้อยที่บ้านในช่วงเวลาสำคัญนี้ด้วย"