โรคมะเร็งเต้านม | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

โรคมะเร็งเต้านม | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักร้อง-นักแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนอายุ 40-70 ปีคือ Olivia Newton-John ได้เสียชีวิตลงในวัย 73 ปีจากโรคมะเร็งเต้านม

Olivia Newton-John นั้นมีเพลงฮิตหลายเพลง แต่ที่ทำให้โด่งดังมากที่สุดก็คงจะเป็นตอนที่รับบทเป็นสาว Sandy ที่ร้องเพลงร่วมกับหนุ่ม Danny (John Travolta) ในเพลง You are the one that I want

ทำให้ผมเกิดสนใจไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งผมขอนำมาสรุปในบทความนี้

ความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมีค่อนข้างสูงมาก ข้อมูลจากสหรัฐประเมินว่าผู้หญิง 1 คนใน 8 คนมีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งในเต้านม (Life time risk of breast cancer is 1 in 8) ดังนั้นการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อให้ค้นพบโรคได้แต่เนิ่นๆ จึงสำคัญอย่างมาก

ทั้งนี้พบโรคนี้ไม่มากในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 45 ปี โดยผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมนั้น 2 ใน 3 จะอายุมากกว่า 55 ปีและ Median age ของผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมคือ 62 ปี (ครึ่งหนึ่งที่เป็นโรคนี้จะอายุต่ำกว่า 62 ปี อีกครึ่งหนึ่งจะอายุ 62 ปีหรือมากกว่า)

เมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมแล้วในปัจจุบันที่มักจะค้นพบได้ค่อนข้างเร็ว จึงพบว่าอัตราการรอดชีวิต (survival rate) ค่อนข้างสูงมาก กล่าวคืออัตราการรอดชีวิตหลังพบว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมนั้น

  • สูงถึง 90% 5 ปีจากการค้นพบ
  • เท่ากับ 84% 10 ปีจากการค้นพบ
  • เท่ากับ 80% 15 ปีจากการค้นพบ

โรคมะเร็งเต้านม | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

นอกจากนั้นแล้วก็ยังจะขึ้นอยู่กับอายุเมื่อค้นพบโรคมะเร็งเต้านม เช่น การรอดชีวิต 5 ปีหลังจากการพบโรคมะเร็งเต้านม ตามอายุมีดังนี้ (แหล่งข้อมูล Webmd.com)

  • อายุ 45 หรือต่ำกว่า เท่ากับ 88%
  • อายุ 45-54 เท่ากับ 91%
  • อายุ 65-74 เท่ากับ 92%
  • อายุ 75+ เท่ากับ 86%

สำหรับ Olivia Newton John นั้น ตรวจพบมะเร็งเต้านมครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 44 ปี ในปี 1992 รักษาจนหายดีมากว่า 20 ปี แต่มาพบอีกครั้งตอนที่มะเร็งแพร่ขยายไปที่กระดูกสันหลังในปี 2013 และพยายามรักษามีชีวิตต่อมาได้อีก 9 ปี

เธอบำบัดด้วยการกินอาหารมังสวิรัติและอาศัยสมุนไพร รวมทั้งกัญชาด้วย แต่ผมยังไม่พบงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าประเภทอาหารที่กินจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมหรือช่วยในการบำบัดรักษาโรคนี้ได้

อย่างไรก็ดีการกินอาหารที่มีประโยชน์นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสุขภาพโดยรวมและการป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในสมัยนี้

รายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญของอาหาร (และการออกกำลังกาย) นั้น ผมกับทางเกียรตินาคินภัทรกำลังจะทำ clip สรุปผลงานวิจัยในด้านดังกล่าวออกมาให้ชมกันใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

โรคมะเร็งเต้านม | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

สำหรับแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ผมสามารถหาข้อมูลงานวิจัยมายืนยันได้นั้นมีโดยสรุปดังนี้

  • ดื่มสุราอย่างจำกัดไม่ให้เกิน 1 แก้วต่อวัน หากดื่มมากกว่าไปความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้น 7 -16%
  • ห้ามสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 14-24% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเริ่มสูงบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 17 ปีและหากครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 56%
  • คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์คือ BMI 18-25 หากน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ (overweight) ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แต่หากน้ำหนักมากจนเข้าข่ายโรคอ้วน (obese) ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (ออกกำลังกายแบบเข้มข้นปานกลางวันละครึ่งชั่วโมงเกือบทุกวัน) จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้ 10-20%

แต่งานวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2021 (ตีพิมพ์ใน Journal of National Cancer Institute Jan 2021) ที่รวบรวมผู้หญิง 1,340 คนเฉลี่ยอายุ 51 ปีที่ตรวจพบมะเร็งเต้านม

โดยแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมการออกกำลังกายก่อนการตรวจพบโรคมะเร็งเต้านม ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งเต้านมและหลังการรักษาหายแล้ว (โดยติดตามผลเฉลี่ย 7.4 ปีและสูงสุด 15 ปี-คนที่เสียชีวิตก็หยุดติดตาม) มีข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้

  • สัดส่วนที่เสียชีวิต 17% สัดส่วนที่มะเร็งกลับมาอีก 23% เฉลี่ยน้ำหนัก BMI เท่ากับ 29 (น้ำหนักเกินเกณฑ์)
  • ผู้หญิงที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ (คือออกกำลังกายเข้มข้นปานกลาง เช่น เดินเร็ว สัปดาห์ละ 2.5-5 ชั่วโมงหรือออกกำลังกายเข้มข้นสูง เช่น วิ่ง 1.25-2.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ทั้งก่อนการตรวจพบและระหว่างการรักษา จะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาอีกลงไปถึง 55% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต (จากทุกโรค) ลงไป68% เมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกายต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ได้ออกกกำลังกาย
  • สำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายตามเกณฑ์ก่อนตรวจพบมะเร็งเต้านม แต่เริ่มออกกำลังกายในช่วง 2 ปีให้หลัง พบว่าสามารถลดวามเสี่ยงจากการกลับมาเป็นมะเร็งลงไป 46% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตลงไป 43% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย

อ่านถึงตรงนี้แล้วจึงเห็นคุณค่าของการออกกำลังกายที่ดูเหมือนว่าจะไม่มียาอื่นใดที่จะมาทดแทนได้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านม | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

อีกแนวทางหนึ่งที่มีการทำการวิจัยอย่างแพร่หลายคือ การกินอาหารเสริมและวิตามินประเภทต่างๆ แต่ผลออกมาคลุมเคลือไม่สามารถสรุปได้ว่าวิตามินใดเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งเต้านม

เว้นแต่การกินวิตามิน D ซึ่งมีงานวิจัยบางอันที่พบว่าช่วยลดความเสี่ยง แต่ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่สรุปแย้งว่าวิตามิน D ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

ทั้งนี้วิตามิน D3 นั้นน่าสนใจเพราะงานวิจัยบางงานพบว่าช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและคนจำนวนมากมีภาวะระดับวิตามิน D ในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์รวมทั้งประเทศไทยด้วย (ส่วนหนึ่งเพราะกลัวแดด) ดังนั้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์หากในการตรวจร่างกายประจำปีจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดว่าขาดวิตามิน D หรือไม่

นอกจากนั้นผู้หญิงที่มียีนประเภท BRCA1 และ BRCA2 ที่อาจกลายพันธุ์ ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงคนอื่นที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งในบางกรณี เช่น นักแสดง Angelina Jolie จึงเลือกที่จะตัดเต้านมออกเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว.  

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร