‘มะเร็งเต้านม’ มากกว่ารักษาคือป้องกัน แล้วจะป้องกันอย่างไร
ถ้าไม่อยากเป็น"มะเร็งเต้านม"ต้องทำอย่างไร มีคำตอบง่ายๆ แต่ยากที่ผู้หญิงจะตัดสินใจ ก็คือ ต้องไม่มีเต้านม แล้วการป้องกันแบบนั้น แพทย์เฉพาะทางต้องทำอะไรบ้าง
คำถามที่ถามกันบ่อยๆ ก็คือว่ยา มะเร็งเต้านมป้องกันได้ไหม มีวัคซีนป้องกันไหม เพราะการตรวจคัดกรองเรื่อย ๆ เหมือนรอให้เป็น แล้วค่อยรักษา จึงอยากมีวิธีป้องกันมากกว่า
นายแพทย์ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม (เต้านม) โรงพยาบาลนวเวช ได้รวบรวมข้อมูลไว้ในบทความให้ความรู้เรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ มากกว่ารักษาคือการป้องกัน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มะเร็งเต้านมอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ตามการตอบสนองต่อฮอร์โมน ได้แก่ Hormone Receptor Positive และHormone Receptor Negative ซึ่งส่วนใหญ่ของมะเร็งเต้านมเป็นชนิด Receptor Positive
ป้องกันมะเร็งเต้านมอย่างไร
ฉะนั้น จึงเกิดแนวความคิดว่า ถ้าเราลดการตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมควรลดลง ซึ่งจากงานวิจัยก็พบว่าข้อสันนิษฐานเป็นความจริง
และสามารถนำมาใช้แนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันได้จริง (Recommendation Guideline) โดยมี 2 วิธี คือ
1. ใช้ยาทานต้านฮอร์โมน เรียกวิธีนี้ว่า Chemoprevention (ไม่ใช่ยาเคมี) ยาที่ใช้ก็คือ ยาต้านที่เคยนำมาใช้ในการรักษานั่นเอง อาทิ Tamoxifen, Raloxifene และ Aromatase Inhibitor
2. การผ่าตัดเพื่อลดการตอบสนองด้วยการตัดรังไข่ ที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนออกทั้ง 2 ข้าง
โดยทั้ง 2 วิธีนี้พบว่าให้ผลในการป้องกันมะเร็งเต้านมได้ 60-70% เฉพาะชนิด Hormone Receptor Positive
ฉะนั้น จึงต้องเริ่มกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันมะเร็งเต้านมได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งคำตอบก็ง่ายมากคือ ไม่มีเต้านมซะก็สิ้นเรื่อง ยังไม่ต้องวิจัยก็เดาผลได้ว่าน่าจะจริง และน่าจะเป็นการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเกิน 90% และผลการวิจัยก็เป็นเช่นนั้น
โดยในช่วงแรกจะเป็นการผ่าตัดเต้านมแบบเรียบ ๆ ทั้ง 2 ข้าง หรือ Prophylactic Bilateral Simple Mastectomy ซึ่งมีจำนวนเคสที่ทำไม่มาก (ก็แน่ซิ ผู้หญิงคนไหนจะอยากทำ)
เทคนิคการตัดเต้าแบบใหม่
ต่อมาได้พัฒนา “เทคนิคการตัดเต้าแบบใหม่ พร้อมกับการเสริมสร้างหน้าอกขึ้นมาใหม่” ในการผ่าตัดคราวเดียวกัน โดยการผ่าตัดนี้จะเก็บรูปลักษณ์ภายนอกของเต้านมไว้ทั้งหมด ตัดออกแต่เฉพาะเนื้อเต้านมข้างใน แล้วเสริมสร้างของใหม่แทนที่ของเดิม
ซึ่งจากงานวิจัยก็พบว่าให้ผลเชิงป้องกันได้มากกว่า 90% เช่นเดิม วิธีการนี้จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะการผ่าตัดในมือศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ แทบไม่พบผลข้างเคียงแต่อย่างใด ประกอบกับคนไข้สามารถลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมกว่า 90% และได้หน้าอกใหม่ที่สามารถปรับให้ได้รูปทรงตามต้องการ เรียกวิธีการผ่าตัดนี้ว่า Prophylactic Bilateral Nipple Sparing Mastectomy with Immediate Breast Reconstruction
เทคนิคนี้ได้ถูกนำมาพิสูจน์ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งก็ให้ผลการรักษาเทียบเท่าการตัดเต้านมทั้งเต้าแบบเรียบ
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ใช้เทคนิคนี้ผ่าตัดมาเกือบ 10 ปี ทั้งเคสผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม (คนไข้มา Request เพื่อผ่าแบบนี้โดยเฉพาะ) การผ่าตัดรักษาผู้ฉีดเสริมเต้านม (Paraffinoma), การผ่ารักษาซิลิโคนแตกรั่วเข้าในเนื้อเต้านม และการผ่ารักษามะเร็งเต้านม ผลด้านความสวยงามเป็นที่น่าพอใจกับคนไข้
ส่วนผลด้านการรักษา และป้องกันได้ออกมาตามข้อมูลงานวิจัยสากล คือ เทียบเท่าการตัดทั้งเต้าแบบเรียบ
ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำวิธีการป้องกันต่าง ๆ ข้างต้นกับคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูง และไม่แนะนำให้กับคนไข้หญิงทั่วไป โดยเฉพาะวิธีการ Chemoprevention
วัคซีนมีไหม
ข่าวดีคือกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนสมัยใหม่ที่ใช้กับ COVID-19 มาพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งเต้านมชนิด TRIPLE NEGATIVE เพราะพบว่ามะเร็งชนิดนี้แสดงโปรตีนหนามเฉพาะ จึงนำลักษณะโปรตีนเฉพาะนี้มาผลิตวัคซีน
และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา US FDA ได้อนุมัติใช้ในการวิจัยเฟสที่ 1 ซึ่งตามกระบวนการพัฒนาวัคซีน โดยปกติต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย กว่าจะได้นำวัคซีนออกมาใช้ได้ทั่วไป