Kick start “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” นำร่อง 4 มหาวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Kick start “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” นำร่อง 4 มหาวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว งานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย คนไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการศึกษาก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างที่เปลี่ยนไปและพฤติกรรมผู้เรียนที่เข้าถึงความรู้ได้จากหลากหลายรูปแบบ

ด้วยเหตุดังกล่าว “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System :NCBS)” จึงเป็นระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล

การเก็บสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับคลังหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา สามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาได้

ว่ากันว่า “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคล ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ศักยภาพ และความพร้อม เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย

โดยสามารถฝึกฝนสมรรถนะได้จากการทำงาน การฝึกอบรม ฝึกอาชีพ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"9 ราชมงคล"ขานรับ อว. เรียนข้ามมหาวิทยาลัย สานต่อธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล

หวั่นโควิด ส่งผล 'วัยแรงงาน' สู่ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

บอร์ดกอศ.ชุดใหม่เดินหน้าตั้งธนาคารหน่วยกิตอาชีวะ

'ธนาคารหน่วยกิต' รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย

 

 

 

  • คลังหน่วยกิตแห่งชาติ สร้างระบบนิเวศการศึกษาใหม่

วันนี้ (18 ต.ค.2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)ร่วมมือกับ SkillLane เปิดตัวโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาติ(National Credit Bank System :NCBS) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพเป็นนักศึกษาสามารถนำผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้จากวิชาและหลักสูตรต่างๆ หริอนำประสบการณ์ทำงานมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ แล้วสามารถนำขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาของไทย หรือเพื่อเป็นรางงานผลลัพธ์การเรียนรู้สะสมของผู้เรียน

ประเดิมนำร่องกับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในช่วงกลางปี 2566 ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดอว. กล่าวว่า การจะทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ในสังคมโลกและมีความสามารถในการแข่งขัน กำลังคนเป็นเรื่องสำคัญนั่นคือรเองการศึกษา เราจะพัฒนากลังคนของประเทศอย่างไรให้ก้าวทันเทคโนโลยี และมีศักยภาพในการแข่งขัน

การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการพัฒนากำลังคนรูปแบบเดิม จะไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย ดังนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหนก็ต้องเข้าสู่การศึกษาได้นโยบายของกระทรวงอว.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

“สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้นั้น  ต้องสร้างระบบนิเวศการศึกษาขึ้นใหม่ ซึ่ง ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ จึงเป็นกลไกสำคัญในการจะช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นชาติที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

 

  • เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ ทุกเวลา อยู่ที่ไหนก็เรียนได้

ทั้งนี้ กระทรวงอว.ได้ประกาศระบบการเทียบโอนหน่วยกิตและระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญภายใต้นโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษา ระบบคลังหน่วยกิต จึงมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการเปิดโอกาสให้ตนไททุกคนในทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ภายใต้ระบบคลังหน่วยกิต

นอกจากนั้น ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตผ่านคลังหน่วยกิตที่มาจาหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย หน่วยฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง และจาการเทียบโอนประสบการณ์

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่าที่ผ่านมา อว.ได้ดำเนินโครงการ Thailand Cyber University ที่มีหลักสูตรออนไลน์ ผ่าน Thai MOOC ซึ่งช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่ผู้เรียนนอกมหาวิทยาลัย ในขณะที่ระบบคลังหน่วยกิตใหม่นี้จะเป็นการต่อยอด และขยายโอกาสการเรียนรู้ของผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขยายผลได้มากขึ้น

“ ความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างอว. กับ SkillLane  และอีก 4 มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น เพื่อนำร่องการทดลองระบบคลังหน่วยกิตทั้งในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการตามประกาศและทางเทคนิคที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และจะขยายรูปแบบตามโครงการนำร่องไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ต่อไป” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

  • 4 หน้าที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ

ทุกวิชาในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าสู่ระบบคลังหน่วยกิตได้ ดังนั้น ทุกอายุช่วงวัยสามารถเรียนทุกวิชาในมหาวิทยาลัยได้

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกินเลน เอดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า SkillLane  เชื่อมั่นเสมอว่า เทคโนโลยีช่วยลดข้อจำกัดการเรียนรู้ในเรื่องของสถานที่และเวลา รวมถึงเชื่อมโยงแหล่งความรู้ต่างๆเข้าด้วยกันได้   สำหรับความร่วมมือในโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาตินี้ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเราเข้ามาช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อคลังหน่วยกิตของสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน  

โดยหน้าที่ของ ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ จะมี 4 อย่าง คือ1.เก็บข้อมูลการสะสมหน่วยกิตของผู้เรียน  2.เชื่อมโยงคลังหน่วยกิตจากสถาบันการศึกษากับธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ  3.ผู้เรียนสามารถเรียกใช้ เรียกดูหน่วยกิตที่สะสมไว้ได้ และ4.มีความปลอดภัย เพื่อทำให้ผู้เรียนได้เรียนตรงกับความต้องการของตัวเอง เลือกเรียนตามความชอบของตนเอง ส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้มากขึ้น และเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • เปิด “ตลาดวิชาดิจิตอล” เชื่อมคลังหน่วยกิตแห่งชาติ

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวให้ทันกับโลก และความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปการเกิดขึ้นของคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนรวดเดียวจนจบ แต่ละคนสามารถเรียนไปได้เรื่อยๆ และเลือกเรียนได้ตามเงื่อนไขและจังหวะชีวิตของตัวเอง

ที่สำคัญ นอกจากคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะเชื่อมต่อกับ TUXSA ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยได้อย่างลงตัวในอนาคตแล้ว ยังจะช่วยให้ธรรมศาสตร์กลับไปทำหน้าที่ตลาดวิชายุคดิจิตอลที่ส่งเสริมการ Upskill และReskill ให้คนทุกเจนเนอเรชันได้มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้ได้

  •  Ecosystem  Learning พัฒนาคนทุกช่วงวัย

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คลังหน่วยกิต แห่งชาติ เป็น Ecosystem  Learning สำคัญของกระทรวงที่ขยายโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในระบบ Formal Informal และNon-Formal Education ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนความรู้ใหม่ๆ ผ่านหลากหลายแหล่งความรู้ และประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ ในศตวรรษใหม่ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับอนาคต ผ่านการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลีอนสังคมและประเทศ

รวมถึงผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่ตอบสนองความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่บนฐานของ Demand Driven โดยการไม่ผูกขาดองค์กรที่สำคัญ แม้ความรู้ของผู้เรีนจะมีความหลากหลาย แต่ก็เป็นความรู้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพราะได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยอีกขั้นหนึ่งแล้ว โดยให้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์และดุลยพินิจตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ ที่Decentralized ไปยังแต่ละสภามหาวิทยาลัย

“Job เป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ ไม่ใช้การเรียนรู้กำหนดJob อย่างที่ผ่านมา อีกทั้งระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ที่จะพัฒนาคนทุกระดับการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาของไทย และเป็นการสร้างสมรรถนะให้แก่คนไทยทุกคน" รศ.ดร.ยุทธนา กล่าว

  • หนุนการเรียนรู้การศึกษาทุกช่วงจังหวะชีวิต

รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชื่อว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนต้องเป็นทั้งระบบปัจเจกบุคคล และองค์กร มช.จึงได้มีการตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต จะบริการจัดการการเรียนรู้แบบใหม่ มุมมองเดิมการให้บริการด้านวิชาการไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ แต่การศึกษาไทย รูปแบบการเรียนรู้ต้องส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต  สามารถสะสมหน่วยกิต ให้คนทุกคนได้เข้ามาเรียนร่วมเป็นนักศึกษาของมช.

“คลังหน่วยกิตแห่งชาติ จะช่วยปฎิรูปการศึกษาไทย  เป็นการศึกษาที่จะทำให้เข้าไปอยู่ในทุกช่วงจังหวะชีวิตของทุกคน การเข้ามาร่วมนำร่องในระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ จะทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความเชื่อมโยงสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัย"รศ.ดร.ปรารถนา กล่าว

  • 9 มทร.พร้อมขับเคลื่อนคลังหน่วยกิตแห่งชาติ

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มียุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ  และมีการขับเคลื่อนคลังหน่วยกิตภายในมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 45 หลักสูตรที่สามารถเทียบโอนกันได้ ซึ่งการเข้าสู่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ ไม่ใช่เพียงมทร.ธัญบุรี แต่รวมทั้ง 9 มทร. ในการดำเนินการเรื่องนี้  

“การเกิดคลังหน่วยกิตแห่งชาติ จะช่วยให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนไทยเกิดขึ้นจริงได้ในวงกว้าง และไม่จำกัดว่าต้องอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น คลังหน่วยกิตแห่งชาตินี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความตั้งใจของมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนาคนผ่านระบบการเรียนการสอนแบบ Lifelong Learning สำเร็จได้จริง” รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ กล่าว