"เจ็บหน้าอก"อาจไม่ใช่จากโรคหัวใจ แต่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร
5 โรคระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ที่อาจต้องใช้การวินิจฉัยพิเศษจึงจะรู้จุด และอาการ “เจ็บหน้าอก”ที่อาจไม่ใช่สาเหตุจากโรคหัวใจ แต่เป็นเพราะโรคระบบทางเดินอาหาร
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร หรือ Center of Excellence in Neurogastroenterology and Motility Chulalongkorn University (CUNM) ร่วมกับ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกัน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เปิดตัว “ศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (ภาคพื้นเอเชีย)” ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมและให้ความรู้เฉพาะทางแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรการแพทย์จากประเทศไทย และหลากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก
- โรคระบบทางเดินอาหาร 15-25 %
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ได้มีแค่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทวารหนัก หรือเนื้อเยื่อต่างๆเท่านั้น แต่ยังมีระบบประสาทที่ควบคุมตั้งแต่ปากจรดรูทวารหนัก เพราะฉะนั้น ถ้าการควบคุมการทำงานผิดปกติ ก็จะทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ่ายไม่ออก กระทบคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทั้งนี้ ประชากรชาวไทยและทั่วโลกเป็นโรคด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารในแต่ละโรค อัตราที่สูงประมาณ 15-25 % ของประชากร
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในส่วนของการรับบริการที่คลินิกผู้ป่วยนอก พบว่า 1 ใน3 หรือราว 30 % ของผู้ป่วยนอกเป็นโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งโรคเหล่านี้มีตั้งแต่กลืนลำบาก เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ กรดไหลย้อน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก กลั้นอุจจาระไม่ได้ ถ่ายอุจจาระไม่สุด เป็นต้น
- โรคระบบทางเดินอาหารที่ต้องวินิจฉัยเพิ่ม
ปัจจุบันการรักษาโรคเหล่านี้ ยังมีการรักษาที่ไม่เหมาะสมในผู้ป่วยจำนวนมาก ผู้ป่วยยังต้องรับยาต่อเนื่องอย่างไม่เหมาะสม ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรทางการแพทย์มาก ทั้งที่โรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ชัดเจนและรักษาที่สาเหตุนั้น ซึ่งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการวินิยฉัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคต่างๆเหล่านี้
โรคด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร มีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยจนรู้สาเหตุที่ชัดเจนและรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ที่ศูนย์ฯดำเนินการ อาทิ
1.กลืนลำบาก
ซึ่งอาจจะกลืนลำบากทั้งของแข็งและของเหลว มีอาการอาหารย้อนขึ้นมาที่หน้าอก น้ำหนักลด ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ได้ยาแล้วไม่ดีขึ้น และส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนไม่พบความผิดปกติ เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร พบเป็นโรคกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำงานผิดปกติ
2.โรคกรดไหลย้อนไม่ตอบสนองต่อยาลดกรด
ซึ่งผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนหน้าอก อาหารย้อน เรอเปรี้ยว อาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับยาลดกรดมานาน และส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนไม่พบความผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนนอกหลอดอาหาร เช่น เจ็บคอ จุกคอ เสียงแหบ มีเสมหะในคอ ไอเรื้อรัง
3. ท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาระบาย
โดยผู้ป่วยมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อย ไม่ปวดถ่าย ท้องอืด มีประวัติอุจจาระค้างในลำไส้ และใช้ยาระบายหลายชนิด แต่อาการไม่ดีขึ้น เมื่อมีการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหูรุดทวารหนัก และตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ พบสาเหตุเป็นจาก กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติ 29 % ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวช้า 13 % และ ความผิดปกติทั้ง 2 ประเภท 11%
4.ปัญหาท้องอืด
อาจจะเกิดจากภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากปิดปกติ ย่อยสารอาหารคาร์โบไฮเดรตบางชนิดไม่ได้ โรคลำไส้แปรปรวน โรคกระเพาะอาหาร ท้องผูกเรื้อรัง โรคอื่นๆ เช่น ลำไส้อุดตันเทียม ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องอืดบางราย เมื่อมีการตรวจวัดระดับไฮโดรเจนโดยการเป่าลมหายใจ พบว่ามีปริมาณก๊าซไฮโดรเจนสูง อาจติดเชื้อแบคทีเรีย
5.ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก
เจ็บหน้าอกอาจเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร เมื่อตรวจแล้วไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ เมื่อตรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจการเคลื่อนไหวหลอดอาหารและตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง พบว่า
- 50 % เกิดจากกรดไหลย้อน
- 24 % เกิดจากการเคลื่อนไหวหลอดอาหารผิดปกติ
- 31 % เกิดจากกรดไหลย้อนและการเคลื่อนไหวหลอดอาหารผิดปกติ
- 22 % เกิดจากสาเหตุอื่นๆ
- ศูนย์ฯระบบทางเดินอาหาร รพ.จุฬาฯ
ศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนรู้ที่จัดเตรียมขึ้นและดำเนินการในศูนย์ฝึกอบรมทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (ภาคพื้นเอเชีย) จะช่วยทำให้การดูแลรักษาคนไข้ในกลุ่มต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะได้รับการรักษาที่ดีขึ้นส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและภาคครัวเรือน
ความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัทเมดโทรนิค จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ทบทวนองค์ความรู้ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ ข้างต้นได้ลึกซึ้งขึ้น
จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ เหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความสามารถในการให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลที่แพทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มารับการฝึกอบรมให้สามารถกลับไปทำหัตถการต่าง ๆ ได้ตามแนวทางมาตรฐาน อันจะส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รานีวรรณ รามศิริ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดโทรนิค(ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน โรคท้องผูกเรื้อรัง และการขับถ่ายผิดปกติ โดยการตรวจดังกล่าวจะบอกถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เพื่อรักษาได้ตรงตามสาเหตุที่พบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ดีเนื่องด้วยเป็นการตรวจแบบใหม่ ปัจจุบันจึงยังขาดแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์การตรวจดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในปี พ.ศ. 2565 เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จึงมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารระดับภาคพื้นเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ