"6 โรค"ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร ที่ตรวจปกติอาจไม่เจอ
รู้จัก 6 โรคระบบประสาทและการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร ที่ตรวจปกติอาจไม่เจอ ขณะที่บำรุงราษฎร์-ร่วมแพทย์จุฬาฯ เปิด‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงาน ระบบทางเดินอาหาร’ วินิจฉัยแม่นยำ รักษาตรงจุด
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า จากตัวเลขการรักษาที่บำรุงราษฎร์พบว่ามีผู้ป่วยต่างชาติ ที่เป็น โรคกรดไหลย้อนถึง 50-60% ขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยเป็นกรดไหลย้อน 10% และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นทุกปี บำรุงราษฎร์ได้ผนึกความร่วมมือกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบ ประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร” (Gastrointestinal Motility Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นับเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ ในด้านความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเป็นการต่อยอดไปอีกขั้นของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"จุลชีพในลำไส้" ตัวชี้วัดสุขภาพ งานวิจัยแพทย์จุฬาฯ ตอบโจทย์สังคมสูงวัย
"รพ.บำรุงราษฎร์" กางแผนปี 65 ชูนวัตกรรมสู่ "การแพทย์แห่งอนาคต"
ท้องผูก แสบบริเวณหน้าอก อย่ามองข้าม
แพทย์แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับมือโรคกรดไหลย้อน
"เจ็บหน้าอก"อาจไม่ใช่จากโรคหัวใจ แต่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยระบบทางเดินอาหารที่วินิจฉัยจนทราบสาเหตุ
ผศ. นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การก่อตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงาน ระบบทางเดินอาหาร ได้เข้ามาเติมเต็มศูนย์ ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในด้านบริการทางการแพทย์แบบไร้รอยต่อ ทั้งในแง่ของการเสริมศักยภาพ ในการตรวจวินิจฉัยโรค ได้ถูกต้องแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น สามารถหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ตั้งแต่อาการแรกเริ่ม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
จากประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์ ทำให้บำรุงราษฎร์ สามารถส่งมอบ การบริบาล ดูแลป้องกันและรักษาได้ ครอบคลุมทั้งโรคที่พบบ่อยโรคที่มีความรุนแรง หรือซับซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารแบบ One Stop Service และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาด จากภาวะความผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหารได้
“การจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงาน ระบบทางเดินอาหาร ไม่ได้ทับซ้อนกับศูนย์ทางเดินอาหารและตับของรพ.บำรุงราษฎร์ แต่จะเสริมกันและกัน โดยคนไข้หากทราบว่าตัวเองมีโรคกรดไหลย้อนหรือโรคทางเดินอาหารอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงาน ระบบทางเดินอาหารได้เลย หรือจะมาเข้ารับบริการที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับก่อนก็ได้ จากนั้นแพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องส่งต่อไปที่ศูนย์เฉพาะทางฯหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาคนไข้มากที่สุด”ผศ.นพ.ยุทธนากล่าว
ที่ผ่านมา ตัวอย่างกรณีผู้ป่วยที่ศูนย์เฉพาะทางฯมาเสริมการทำงาน โดยศูนย์ทางเดินอาหารฯ มีคนไข้เข้ามารับบริการ โดยก่อนหน้านี้คนไข้ 2-3 ราย ไปรับบริการมาหลายสถานพยาบาลแต่ไม่หาย เมื่อมาที่ศูนย์ทางเดินอาหารฯบำรุงราษฎร์ จึงได้ส่งปรึกษาต่อที่ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร
อาทิ คนไข้มีอาการแบบโรคกรดไหลย้อน ได้รับยารักษามามากก็ไม่หาย เมื่อส่งต่อไปศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร มีการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ปรากฎว่าไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน แต่เป็นหูรูดหลอดอาหารหนาตัวเกินไป เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัด ก็สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้จนหาย
กรณีคนไข้ปอดอักเสบ สำลักอาหารลงปอดอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีการตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร พบว่า ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดการสำลัก เป็นต้น
- ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร
ด้าน ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร” (Gastrointestinal Motility Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ประชากรชาวไทยและทั่วโลกเป็นโรคด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารในแต่ละโรค อัตราที่สูงประมาณ 15-25 % ของประชากร และข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในส่วนของการรับบริการที่คลินิกผู้ป่วย พบว่า 1 ใน3 หรือราว 30 % เป็นโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่รับการรักษาตามแนวทางการรักษาทั่วไปแล้ว แต่ยังไม่หายจากอาการ จำเป็นทีจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จะได้รักษาได้ตรงจุด ซึ่งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร จะมาดูแลในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นหลัก
ศูนย์ฯโรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ให้การบริบาลดูแลรักษาผู้ป่วย ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่าง ตั้งแต่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ที่มีอาการแต่รักษาด้วยแนวทางมาตรฐานแล้วยังไม่หาย โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ จะเป็นผู้ตัดสินใจ เลือกเทคโนโลยีที่นำมาตรวจวินิจฉัย ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้มี ความแม่นยำและให้การรักษาได้อย่างตรงจุด
- ตัวอย่าง 6 โรคระบบประสาทฯทางเดินอาหาร
1. โรคกรดไหลย้อน มักมีอาการแสบร้อนหน้าอกและเรอเปรี้ยว แต่ผู้ป่วยอาจมาด้วยอากา รของโรคหูคอจมูก เช่น แสบคอ เจ็บคอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง หรืออาการทางโรคปอด เช่น ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอกที่หาสาเหตุไม่พบ
2.โรคอะคาเลเซีย เป็นโรคที่ทำให้กลืนลำบาก มีสาเหตุมาจากการสูญเสียเซลล์ประสาท ที่ควบคุมการทำงานของหลอดอาหารและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
3.ภาวะการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง กลั้นอุจจาระไม่ได้,
4.ภาวะท้องอืดแน่นท้องเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงาน ของทางเดินอาหารผิดปกติ และไม่สามารถพบความผิดปกติได้จากการส่องกล้อง
5.โรคกระเพาะอาหาร ที่ตรวจไม่พบสาเหตุ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า
6.ปวดท้องหรืออืดแน่นท้อง โดยไม่รู้สาเหตุ โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น
- วิธีตรวจโรคระบบประสาทฯทางเดินอาหารเพิ่มเติม
เทคโนโลยีเพื่อการตรวจเพิ่มเติมในการวินิจฉัยได้ตรงสาเหตุมากขึ้น
- ตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก
-การตรวจการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก
-การวัดปริมาณน้ำลาย เพื่อดูการ ทำงานของต่อมน้ำลาย
- การทดสอบไฮโดรเจนทางลมหายใจ
- การตรวจวัดความเป็นกรด ในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง
-การรักษาโดยการฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกและกลั้นอุจจาระไม่ได้
โดยผู้ป่วยท้องผูกที่รับประทานยาระบายแล้วอาการไม่ดีขึ้น ประมาณ 40% เกิดจากการเบ่งถ่าย ที่ผิดวิธี แพทย์และพยาบาลจะช่วยสอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ ที่จะเบ่งและคลาย นำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้
“การที่ศูนย์ฯจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับศูนย์ฯรพ.บำรุงราษฎร์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ทราบสาเหตุอาการป่วยที่แน่ชัดเท่านั้น ในแง่ของการศึกษาวิจัยนั้น เนื่องจากบำรุงราษฎร์มีผู้ป่วยต่างชาติมาก ต่างจากที่รพ.จุฬาฯ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการศึกษาวิจัยโรคระบบทางเดินอาหาร ที่พบว่าบางโรคในต่างชาติแตกต่างจากคนไทย เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไปด้วย”ศ.นพ.สุเทพกล่าว