เคสหมอหนุ่มเจอมะเร็งปอดระยะลุกลาม เพราะฝุ่นพิษ pm 2.5?
หมอแล็บแพนด้า ได้กล่าวถึงจากกรณีของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล วัย 28 ปี ที่ตรวจเจอมะเร็งปอดระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้าย ทั้งๆที่ร่างกายแข็งแรงปกติดีทุกอย่าง พร้อมยกเรื่องของฝุ่นพิษ pm 2.5 ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ชี้ควรจริงจังและตื่นตัวกับเรื่องมลพิษทางอากาศได้แล้ว
หมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ได้กล่าวถึงจากกรณีของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล วัย 28 ปี อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกมาแชร์เรื่องราวของตัวเองหลังจากที่ตรวจเจอมะเร็งปอดระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้าย ทั้งๆที่ร่างกายแข็งแรงปกติดีทุกอย่าง รักสุขภาพไม่สูบบุหรี่ นอนตรงเวลา แต่เมื่อเอกซเรย์ล่าสุดกลับพบว่า ปอดซีกขวาหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง พร้อมยกเรื่องของฝุ่นพิษ pm 2.5 ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ชี้ควรจริงจังและตื่นตัวกับเรื่องมลพิษทางอากาศได้แล้ว
มลพิษทางอากาศและ pm 2.5 ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งครับ เพราะหมอหนุ่มที่ออกกำลังสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินคลีน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มน้อยมาก ทำงานไม่เครียด นอนเป็นเวลา กลับตรวจเจอมะเร็งปอดระยะลุกลาม ปอดขวาหายไปครึ่งนึงแล้ว
ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่เราควรจริงจังและตื่นตัวเรื่องมลพิษทางอากาศกันได้แล้วครับ ฝุ่นพิษ pm 2.5 มันคือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก ซึ่งอยู่คู่กับประเทศไทยมาหลายปีและมาเป็นฤดูกาลตั้งแต่หน้าหนาวยาวข้ามปีไปหน้าร้อน
ความร้ายกาจของ pm 2.5 คือ มันไม่ได้มาตัวเปล่า แต่ดันเอาเพื่อนอย่างสารปรอท แคดเมียม โลหะหนักอื่นๆและพวกสารก่อมะเร็งอีกมากมายติดมาด้วย
pm 2.5 สามารถทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้จริง ซ้ำร้ายยังสามารถเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งชนิดอื่นๆได้อีกด้วยนะครับ
ป้องกันตัวเองไว้ก่อนดีสุดครับ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือพวกควันบุหรี่มือหนึ่ง มือสอง มือสาม พอถึงจุดที่เราป่วยเข้าจริงๆ เงินทองอะไรทั้งหลายก็ไม่มีค่า การได้มีชีวิต ใช้ชีวิต และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มันคือดีที่สุดแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- แห่ให้กำลังใจหมอวัย 28 ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ร่างกายแข็งแรงปกติ
- ไม่สูบบุหรี่ก็เป็น "มะเร็งปอด" ได้ เช็กปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง?
- PM 2.5 ระลอกแรกมาแล้ว! สาเหตุอุบัติการณ์ "มะเร็งปอด" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ทนพ.ภาคภูมิ ระบุเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่ แต่ก็พบว่า 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในสหราชอาณาจักรมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ
โดยทีมวิจัยของสถาบันฟรานซิสคริกให้ความสำคัญกับอนุภาคฝุ่น pm 2.5 และเมื่อทดลองในสัตว์และมนุษย์โดยละเอียดพวกเขาพบว่า "สถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง" จะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ในสัดส่วนที่มากขึ้น
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ถูกเผยแพร่บนเวที ESMO Congress 2022 ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ผลวิจัยชี้ชัดว่า การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ
โดยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่า 300,000 รายทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสภาพแวดล้อมกลางแจ้ง
และงานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่า การได้รับฝุ่นละออง pm 2.5 เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด "มะเร็งปอด" ชนิด non-small-cell ในผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่มีการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อปอดอยู่แล้วแต่เดิม โดยนักวิจัยจากสถาบันฟรานซิสคริก (Francis Crick Institute) อธิบายว่า ผลกระทบนี้เกิดจาก ฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ ส่งผลให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
ข้อมูลประกอบจาก หมอแล็บแพนด้า , สู้ดิวะ , ESMO.org , WHO global air quality guidelines