เช็กสิ! ใครเข้าข่าย Weaponized Incompetence แกล้งชมคนอื่นเพื่อเลี่ยงงาน
การชื่นชมเพื่อนร่วมงานเป็นเรื่องปกติของสังคม “มนุษย์เงินเดือน” แต่หากเป็นการแกล้งชมเพื่อให้เราไปทำงานแทน หรือเรียกง่ายๆ ว่า เกี่ยงงาน อาจจะเข้าข่ายพฤติกรรมที่เรียกว่า Weaponized Incompetence
คุณคุ้นเคยกับประโยคเหล่านี้หรือไม่ ?
“คุณทำสรุปการประชุมได้ดีมาก งั้นโอกาสต่อไปขอรบกวนอีกนะ”
“งานนำเสนอครั้งนี้คุณทำดีมาก ครั้งต่อไปช่วยมาทำให้อีกนะ”
หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น “เธอรีดผ้าเรียบมากเลย งั้นต่อไปเธอเป็นคนรีดผ้าอีกนะ”
ประโยคที่ฟังดูแล้วอาจคล้ายกับ “คำชม” แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับจะ “โยนงาน” หรือความรับผิดชอบต่างๆ มาให้เราเสียอย่างนั้น คนเหล่านี้มักจะไม่ขอให้ทำงานแทนพวกเขาแบบตรงๆ แต่มักจะเอ่ยปากชื่นชมเสียก่อนเพื่อให้ดูไม่เสียมารยาท ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้นี้มีชื่อเรียกว่า Weaponized Incompetence ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในระดับความสัมพันธ์ของครอบครัวหรือคนรักเท่านั้น แต่ยังเกิดได้บ่อยในสังคม “วัยทำงาน” ด้วย
“Weaponized Incompetence” เป็นคำศัพท์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมได้ไม่นานนัก หมายถึง พฤติกรรมที่ใครคนหนึ่งจะปฏิเสธในการทำอะไรบางอย่างด้วยเหตุผลมากมายมหาศาล ซึ่งเอาตรงๆ ก็อาจจะเพียงแค่ขี้เกียจหรือไม่อยากทำเท่านั้น แต่ไม่รู้จะบอกคนอื่นตรงๆ อย่างไร เลยต้องแกล้งชมไปก่อนเพื่อให้มีคนอื่นมาทำงานนั้นแทน โดยที่ไม่ได้สนใจว่าคนที่มาทำจะมีความสามารถเพียงพอหรือเต็มใจทำมากน้อยแค่ไหน
ส่วนใหญ่แล้วภาวะ Weaponized Incompetence มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักทั้งในระดับคบหาดูใจไปจนถึงระดับแต่งงานกันแล้ว ตั้งแต่เกี่ยงกันทำงานบ้านไปจนถึงเกี่ยงกันเลี้ยงลูก แต่ปัจจุบันในสังคมการทำงานมีหลายคนที่ต้องประสบกับภาวะดังกล่าวเช่นกัน ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะคนที่ต้องทำกลับโยนงานให้คนอื่นไปเสียดื้อๆ โดยกรณีนี้มักเกิดกับคนที่มีตำแหน่งงานในระดับใกล้เคียงกัน (ไม่ใช่ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง)
ผลจากพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะสร้างความอึดอัดใจระหว่างทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานในแผนกแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่ถูกขอร้องให้ทำงานแทนถูกเอาเปรียบมากจนเกินไปและส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจได้ เนื่องจากรู้สึกไม่เต็มใจและกดดันกับงานที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพโดยตรง เนื่องจากต้องทำงานหนักขึ้น เสียเวลามากขึ้น ทำให้กระทบกับเวลากินเวลานอนที่ผิดเพี้ยนไปจนเสียสุขภาพในระยะยาว
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจาก John Kenny ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์อธิบายว่า พฤติกรรมแบบ Weaponized Incompetence คือหนึ่งในรูปแบบของ Passive-Aggressive หมายถึง ความไม่พอใจที่คนบางคนไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จึงเลือกแสดงออกในทางอ้อมแทนเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกโกรธ อึดอัด หรือไม่สบายใจ ดังนั้นการปฏิเสธงานหรือการโยนงานทางอ้อมนั้นก็เพื่อแสดงออกว่า ไม่ต้องการทำงานดังกล่าว หรือไม่เต็มใจจะทำงานนั้นๆ
โดยสรุปแล้วไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเท่านั้น แต่ “Weaponized Incompetence” ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในสังคมมนุษย์ออฟฟิศ นอกจากจะสร้างความอึดอัดให้คนอื่นแล้ว ยังทำให้ทั้งทีมเสียงานหรือได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพไปด้วย ดังนั้นการพูดคุยกันแบบเปิดอกอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนร่วมงาน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ควรแจ้งหัวหน้างานไปตามตรง เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำงานมากกว่าที่ได้รับมอบหมายทั้งที่เงินเดือนเท่าเดิมแถมงานตัวเองก็อาจจะไม่เสร็จตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูล : Goalcast, Psychology Today, Huff Post, Glamourmagazine และ Mirror TH