"วิตามิน"อาหารเสริม กินมากไป ผลเสียมากกว่าผลดี
วิตามินในอาหาร ย่อมดีกว่าวิตามินในอาหารเสริม แต่ทำไมคนไทยกินวิตามินเสริมเหมือนขนม บางทีไม่ขาดวิตามิน ก็ซื้อหามากิน เสียเงินจำนวนมาก ถ้าบริโภคมากไปก็เกิดโทษได้
ร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามิน เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน แต่ต้องการวิตามินในปริมาณไม่มากนัก แต่คนยุคนี้กินวิตามิน อาหารเสริมเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าขาดวิตามินหรือไม่ แต่ก็กินไว้ก่อน เพราะมีคนแนะนำให้กิน และต้องยอมรับว่า ธุรกิจวิตามินอาหารเสริมเป็นตลาดที่เติบโตเร็วมาก จึงมีการโฆษณาทุกรูปแบบ
ดังนั้นก่อนจะเติมวิตามิน อาหารเสริมเข้าไปในร่างกาย ต้องรู้ว่า ร่างกายขาดวิตามินชนิดไหน โดยการตรวจเลือด แล้วให้หมอวินิจฉัยจึงเลือกกินวิตามินเสริมให้ถูกต้อง
วิตามินมี 2 กลุ่ม
- วิตามินที่ละลายในน้ำ
วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 5 บี 6 บี 7 บี 9 บี 12 และวิตามินซี จะอยู่ในร่างกาย 2-4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจากการใช้งานจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ โอกาสที่จะสะสมในร่างกาย จึงมีน้อยไม่ค่อยมีผลข้างเคียง
- วิตามินที่ละลายในไขมัน
วิตามินเอ ดี อี และเค จะละลายในไขมันหรือน้ำมันเท่านั้น เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไม่สามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ หากได้รับมากเกิน จะสะสมไว้ในร่างกาย
ร่างกายไม่ควรขาดวิตามิน ?
- วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และทำให้แผลหายเร็วขึ้น อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง พริกหวาน ผักโขม มะละกอ มะม่วง สตรอเบอร์รี่ ฝรั่ง ส้ม
- วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก โดยปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดด สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับแสงแดด ร่างกายอาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารประเภทธัญพืช เห็ด และดื่มนมที่เสริมวิตามินดีเป็นประจำ
- วิตามินเอ ช่วยรักษาสายตาของผู้สูงวัยไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว ช่วยการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แหล่งของวิตามินเอในอาหาร ได้แก่ ผักโขม แครอท มันเทศ ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก
- วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย วิตามินอีพบมากในอะโวคาโด ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน เนยถั่ว งา และน้ำมันสำหรับปรุงอาหารทุกชนิด
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ว่า ในความเป็นจริงหากเราได้รับวิตามินมาจากอาหารประจำวันอย่างเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเสริมอีก
“ถ้าสมมุติวันหนึ่งเราได้รับผักหรือผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน 5 ส่วน ในที่นี้คืออะไร ให้เรานึกถึงกำปั้นของเรา ผักและผลไม้รวมกัน 1 กำปั้น คือ 1 ส่วน ฉะนั้นหากวันหนึ่งเราได้รับผักและผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน แสดงว่าเราได้รับวิตามินและเกลือแร่ไม่เพียงพอ และเราก็ต้องมาดูต่อว่าคนคนนั้นมีโรคประจำตัวหรือไม่”
คำแนะนำในการกินวิตามิน
- หากต้องการกินวิตามิน แนะนำว่าให้ตรวจหาระดับวิตามินในร่างกายก่อน
- การกินวิตามินหรืออาหารเสริมเยอะๆ มีอันตรายกับร่างกายเหมือนกัน เพราะตกค้างสะสมในร่างกายได้
- เลือกวิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำจะปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า เพราะไม่มีการสะสมตกค้างในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี และวิตามินซี
- วิตามินบางอย่างแพทย์ไม่แนะนำให้กิน เช่น คนไข้มีปัญหาโรคไต เราไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินเสริมที่เป็นวิตามินเอ เพราะจะทำให้เกิดภาวะวิตามินคั่งในตับและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
- เพื่อสุขภาพที่ดี เราไม่จำเป็นต้องการกินวิตามินเสริมในปริมาณที่สูง แต่เน้นรับประทานอาหารให้ครบชนิด ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดการสะสมในร่างกายด้วย
วิธีการกินวิตามิน
- ถ้าจะกินวิตามิน อาหารเสริมให้ได้ผลดี อย่างวิตามินบีรวมและวิตามินซี ควรรับประทานพร้อมอาหารเช้า กลางวัน เย็น เพื่อให้วิตามินอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งวัน
- ส่วนวิตามินเอ ดี อี เค ที่ละลายได้ดีในไขมัน ควรทานพร้อมมื้ออาหารที่มีไขมัน และถ้าต้องทานวิตามินในมื้อเดียวให้เลือกมื้อที่ใหญ่ที่สุดของวัน หรือทานครึ่งหนึ่งหลังอาหารเช้า ครึ่งหนึ่งหลังอาหารเย็นก็ได้
วิตามินแต่ละชนิดช่วยเสริมเรื่องใดบ้าง
- วิตามินเอ เกี่ยวกับสายตาและการเจริญเติบโต
- วิตามินบี เกี่ยวกับระบบประสาท การสร้างพลังงานและเม็ดเลือด
- วิตามินซี เกี่ยวกับการสร้างคอลลาเจน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
- วิตามินดี เกี่ยวกับกระดูก
- วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
- วิตามินเค เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและกระดูก ชะลอวัยได้
คนกลุ่มไหนมีโอกาสขาดวิตามิน
- ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ
- คนที่งดรับประทานเนื้อสัตว์
- คนที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้
- คนที่กินยาบางอย่างที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางชนิดลดลง
- คนที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
- คนที่มีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายสูญเสียวิตามินอย่างรวดเร็ว เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเยอะ
................
อ้างอิง :
-คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ https://www.bumrungrad.com/