ปี 66 ปีทองตลาดผู้สมัครงาน แนะผู้ประกอบการปรับตัวก่อนขาดบุคลากร
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการ HR ของบริษัทหลายๆ แห่งกำลังประสบปัญหาของการสมัครงาน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาการเลือกคนเข้าทำงาน แต่เป็นผู้สมัครงานเลือกองค์กรได้
Keypoint:
- ปี 2566 ปีทองของผู้สมัครงาน แม้เศรษฐกิจถดถอย แต่ยังคงเป็นตลาดของผู้สมัครไม่ใช่ผู้ประกอบการ
- ผู้สมัครงานยุคใหม่ เลือกงานจากความมั่นคง เงินเดือน และองค์กรที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
- ผู้ประกอบการต้องการเก่ง คนมีทักษะ ต้องปรับตัวปรับองค์กรรองรับการสมัครงานยุคใหม่
- ผู้สมัครงานในไทยมากถึง 72% ต้องการการทำงานแบบ Hybrid และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ตำแหน่งงานที่ได้รับการเสนองานบ่อยไม่ใช่สายไอที
ในปี 2566 นี้ ยังคงเป็นปีทองของผู้สมัครงานที่สามารถเลือกตำแหน่งงาน เลือกองค์กรที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต และความรู้ความสามารถได้
ผลสำรวจในหัวข้อ “สิ่งที่ผู้สมัครอยากให้ผู้ประกอบการรู้: อนาคตแห่งการจ้างงาน และการสรรหาที่เปลี่ยนไป (What Job Seekers Wish Employers Knew: Unlocking the Future of Recruitment)" จัดทำโดย JobStreet (จ๊อบสตรีท) และ JobsDB (จ๊อบส์ดีบี) ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK (ซีค) ได้จัดทำร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามรวม 97,324 คน จากอินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'HR' ยุคใหม่ เร่งเฟ้นหา คนทักษะไอที ตอบโจทย์องค์กร
"มนุษย์เงินเดือน"แบบไหนที่ "องค์กร" ต้องการ "จ้างงาน" มากที่สุด?
ปี 2566 ปีทองของผู้สมัครงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ
โดยผลสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของคนทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงยังเปิดโอกาสมองหางานใหม่ ขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงได้รับการติดต่อนำเสนองานใหม่ ๆ ปีละหลายครั้ง โดย 36% ได้รับการติดต่อทุกเดือน
ขณะเดียวกัน 49% ของผู้สมัครงาน ระบุว่าพวกเขากำลังมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือมีตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดย 30% ระบุว่าการขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้หางานใหม่
“ปีเตอร์ บิโธส” ประธานกรรมการบริหาร SEEK Asia กล่าวว่าแม้ขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเริ่มถดถอย ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มชะลอการจ้างงาน ดุลอำนาจในตลาดแรงงานจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากผู้หางานมาเป็นผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดแรงงานในปี 2566 จะยังคงเป็นตลาดของผู้สมัครงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง
“จากการที่หลายองค์กรในเอเชียยังคงฟื้นตัวจากงานที่สูญเสียไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์อัตราการจ้างงานอาจชะลอตัวท่ามกลางความไม่แน่นอน ทว่าณ ขณะนี้ ตลาดงานยังคงเป็นตลาดของผู้สมัครงาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องรู้วิธีดึงดูด สรรหา และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้”ปีเตอร์ กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว ยังพบว่า ถึงแม้บริษัทเทคโนโลยีในภูมิภาคและทั่วโลกจะมีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความสามารถยังคงมีอยู่ สอดคล้องกับข้อสังเกตของ SEEK เกี่ยวกับโฆษณางานสำหรับตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นถึง 29% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สิ่งที่ผู้สมัครงานให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ
ทั้งนี้ สำหรับเหตุผล 3 อันดับแรกที่ทำให้ผู้สมัครงานเริ่มมองหางานใหม่คือ
- 49% ต้องการมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม
- 30% งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีโอกาสในการเติบโตน้อย
- 27% เงินเดือนและสวัสดิการในปัจจุบันยังไม่น่าพอใจ
โดยสิ่งที่ผู้สมัครงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ต้องการมากที่สุด มีดังนี้ 71% ต้องการงานที่มั่นคงและมีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยผู้สมัครงานในไทย พบมากถึง 77% ที่ต้องการสิ่งเดียวกัน
ขณะที่ปัจจัยชี้ขาดที่ผู้สมัครงานใช้ตัดสินใจเมื่อหางานใหม่ คือ
- 22% ขาดค่าตอบแทนทางการเงิน
- 17% ขาดความสมดุลระหว่างชีวิตและงาน
- รวมถึงจำนวนวันลาหยุดและความมั่นคงของงานเป็นปัจจัยชี้ขาดอันดับสามที่ขาด
ปีเตอร์ กล่าวต่อว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นเหมือนการปลุกให้หลายคนได้ตื่นขึ้น ทุกวันนี้เราเริ่มก้าวเข้าสู่ยุค 'The Great Reconfiguration' ผู้สมัครงานกำลังปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยพวกเขาให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มองหาผู้สมัครงานที่มีทักษะที่แตกต่าง และยังคงเน้นที่ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
“ ผู้ประกอบการที่ต้องการดึงดูดคนเก่ง คนมีทักษะ ก็จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนหางานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน”ปีเตอร์ กล่าว
ด้าน “ซาการ์ โกเอล” พาร์ทเนอร์และผู้ช่วยผู้อำนวยการ BCG กล่าวว่าความคาดหวังของผู้คนที่มีต่องานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ชีวิตเพื่อทำงานอีกต่อไปแต่พวกเขาต้องการทำงานเพื่อใช้ชีวิต ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าอัตราเงินเดือนที่สูงอาจเป็นหนทางหนึ่งในการดึงดูดคนมีความสามารถ
“เงินเดือนอย่างเดียว อาจไม่สามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ในระยะยาวได้ เพราะผู้หางานในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน สร้างความยืดหยุ่น และต่อยอดความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน” ซาการ์ กล่าว
กระบวนการจ้างงานที่ผู้สมัครงานมองหา
“ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการจ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย (JobsDB Thailand) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ผู้สมัครงานมากถึง 72% ต้องการการทำงานแบบ Hybrid ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 18% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง 10%
“ตลาดแรงงานไทยนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ตำแหน่งงานที่ได้รับการเสนองานบ่อยเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่สายงานด้านไอที แต่เป็นสายงานผู้ใช้แรงงาน (58%) และภาคธุรกิจบริการ (57%) ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องการบุคลากรในสายงานไอทีเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนการเสนองานต่อสัปดาห์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมล้วนปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน” ดวงพร กล่าว
ในส่วนของกระบวนการจ้างงานที่ผู้สมัครงานมองหา พบว่าการสำรวจดังกล่าวได้หักล้างและพิสูจน์ความเชื่อผิด ๆ ในการจัดหางานหลายประการ รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้สมัครงานต้องการบนเส้นทางการสมัครงาน อาทิ ปัจจัยอันดับแรก ที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการในระหว่างกระบวนการคัดสรรบุคลากร 67% อยู่ที่กระบวนการสรรหาที่ราบรื่นและรวดเร็ว และ 49% ของผู้สมัครงานจะปฏิเสธข้อเสนองานที่น่าดึงดูดหากพวกเขาเผชิญกับประสบการณ์เชิงลบ
แพลตฟอร์ม-คำแนะนำของเพื่อน ช่องทางหางานยอดนิยม
ดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับช่องทางในการสมัครงานของผู้สมัครงาน พบว่า แพลตฟอร์มการจัดหางานเป็นช่องทางยอดนิยมมากที่สุด รวมถึง คำแนะนำของเพื่อน ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นความสนใจคนที่ไม่ได้กำลังมองหางานให้เริ่มหางาน โดยประเทศไทย การติดต่อส่วนตัวจากคนในแวดวงอาชีพเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นความสนใจ และหากพวกเขาเกิดความสนใจแล้ว ส่วนใหญ่มักจะหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของบริษัทต่อไป
“เครื่องมือดิจิทัลเพื่อช่วยในการคัดสรรพนักงานที่ล้ำสมัยในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแม้กระทั่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลายคนชอบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในช่วงกระบวนการคัดสรรบุคลากร โดยมีเพียง 24% ที่ระบุว่ารู้สึกสบายใจกับการเข้าร่วมการสัมภาษณ์อัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการสัมภาษณ์ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสมัครงาน และเน้นกระบวนการคัดสรรบุคลากรแบบมีปฎิสัมพันธ์ให้มากขึ้น” ดวงพร กล่าวทิ้งท้าย