“ว่างงาน” ไม่ใช่เรื่องแย่สำหรับ “เจน Z” ได้ใช้เวลาเพิ่มทักษะ-ค้นหาตัวตน
แหวกกฎทุกเจน! เจน Z มองช่วงตกงาน หรือ Resume Gap เป็นเรื่องดี เพราะสามารถได้ใช้เวลาค้นหาตัวตน เพิ่มทักษะ ก่อนเข้าสู่ตลาดงาน อีกทั้งใช้เวลาว่างงานมากกว่าคนเจนอื่น
ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม (Resume) เปรียบเสมือนกับสิ่งแรกที่จะสร้างความประทับใจให้กับเหล่า HR และเป็นตัวตัดสินว่าจะเรียกคุณมาสัมภาษณ์งานต่อไปหรือไม่ ดังนั้น โดยปรกติแล้วบรรดาผู้สมัครจะใส่ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของตนอย่างเต็มที่ และไม่ต้องการให้มีช่วงเวลาว่างงานในประวัติการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทดแทนช่วงเวลาที่ห่างหายจากการทำงานด้วยการไปเรียนหรือลงคอร์สสั้น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าพวกเขากระตือรือร้นที่จะหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนสกิลให้กับตนเองอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ชาวเจน Z กำลังเปลี่ยนความเชื่อนี้ เมื่อพวกเขายอมปล่อยให้เรซูเมของพวกเขามีช่วงเวลาที่ตกงาน หรือ Resume Gap และชดเชยเวลาว่างนี้ด้วยการเสริมสกิลและค้นหาสิ่งที่ชอบให้กับตัวเอง
จากการสำรวจจาก Applied บริษัทจัดหางาน พบว่า 47% ของคนเจน Z ในสหราชอาณาจักร มีช่วงว่างงานเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ซึ่งสูงกว่าคนทำงานทั่วประเทศที่มีเพียง 33% ซึ่งคนรุ่นใหม่มองว่าโอกาสในการพัฒนาตนเองไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ช่วงปีที่เว้นว่าง หรือ Gap Year เท่านั้น โดยเห็นว่าการว่างงานเป็นเรื่องปกติ เหล่านายจ้างไม่ควรตัดสินพวกเขาจากช่วงเวลาการทำงานที่หายไปในประวัติการทำงานเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่เรื่องผิดที่พนักงานจะพักงานเพื่อไปค้นหาตัวตน
- ช่วงว่างงานตัดโอกาสการทำงาน
ผู้สมัครงานในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะต้องสาธยายเหตุผลที่พวกเขาว่างงานให้แก่ผู้จ้างงานฟัง แต่ผลสำรวจกลับระบุว่า การพักงานหลังจากทำงานมาอย่างยาวนานไม่ใช่เรื่องแปลก จากผลสำรวจของ LinkedIn พบว่าในทศวรรษที่ 2010 พนักงาน 62% มีช่วงเว้นว่างจากการทำงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่าเมื่อเทียบกับยุค 70
ขณะที่การสำรวจของ Applied ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต้องพักงาน คือ การเลี้ยงลูก โดยมีผู้หญิง 38% และ ผู้ชาย 11% ที่ระบุว่าเหตุผลดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องพักงาน ขณะที่ 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเปิดเผยว่า ปัญหาทางสุขภาพกายหรือสภาพจิตใจเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องหยุดงาน ส่วนคนที่ให้เหตุผลว่าโดนเลิกจ้างหรือออกมาเพื่อดูแลคนในครอบครัว มีอยู่ไม่ถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด
แม้ว่าฟังดูแล้วก็สมเหตุสมผลที่ทำให้แรงงานต้องพักงาน แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังคงมีอคติกับผู้สมัครงานเหล่านี้ จากผลสำรวจของ ResumeGo ผู้ให้คำปรึกษาด้านการทำเรซูเม พบว่า ผู้สมัครงานที่มีช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำงานจะถูกเรียกสัมภาษณ์น้อยกว่าผู้สมัครที่ทำงานต่อเนื่องถึง 45% อีกทั้งกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ทำแบบสอบถามระบุว่าพวกเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นหากไม่จำเป็นต้องพูดถึงช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง
นอกจากนี้ อคติของนายจ้างต่อแรงงานที่มีช่วงว่างงานยังส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของพวกเขา
ผลการศึกษาในปี 2563 จัดทำโดยนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา พบว่า แรงงานที่มีช่วงเว้นว่างจากการทำงานมากที่สุด จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าคนที่ทำงานตลอดถึง 40% และยังพบว่าผู้หญิง ผู้ชายผิวดำ ผู้ที่มีการศึกษาน้อย และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยากจนถึงอายุ 22 ปี มีแนวโน้มที่จะมีช่วงตกงานมากที่สุด และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พวกเขาได้รับค่าแรงในระดับต่ำตลอดชีวิตการทำงาน
แบรด โธมัส ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของบริษัทจัดหางาน Orange Quarter ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Insider ว่า “ถ้าผู้สมัครวัย 20 ปีเศษ มีช่วงว่างงานในประวัติการทำงาน นายจ้างส่วนใหญ่จะมองว่าคนนั้นเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่จริงจังในการทำงาน เพราะเขาคิดว่าในวัยนี้ควรตั้งใจทำงานเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต”
ด้วยอคติของนายจ้าง จึงทำให้มีคนเขียนบทความแนว “เทคนิคไม่เปิดเผยช่วงเวลาว่างงานในเรซูเม” เกลื่อนอินเทอร์เน็ต เช่น ใช้รูปแบบที่ไม่ต้องระบุช่วงเวลาที่ทำงาน หรือเพิ่มบุคคลอ้างอิงหลาย ๆ คน เพื่อทำให้เรซูเมดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
ขณะที่ คยาติ สุนทาราม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Applied จัดทำแคมเปญเรียกร้องให้นายจ้างขอเรซูเมของผู้สมัครงานด้วยการแสดงตำแหน่งที่เคยทำงานโดยไม่จำเป็นต้องระบุวันเดือนปีในการทำงาน โดยเธอกล่าวว่า “ช่วง 70 ปีที่ผ่านมา นายจ้างสร้างมุมมองที่แคบมากในการคัดคนเข้าทำงาน แต่ตอนนี้ความต้องการขององค์กรกำลังเปลี่ยนแปลง สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และความต้องการจากคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป”
- ว่างงาน ไม่ได้แปลว่าว่าง
แม้ว่าคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงยังไม่ได้ทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาปล่อยในวันเวลาผ่านไปเฉย ๆ พวกเขาต่างพากันลงคอร์สเรียนระยะสั้น ลองฝึกงานในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อหาความชอบของตนเองก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานของจริง
สุนทาราม เปิดเผยว่า 70% ของแรงงานชาวเจน Z ที่ทำแบบสำรวจของ Applied เชื่อว่าการหาประสบการณ์การทำงานหลังจากเรียนจบ 3 ปี จะช่วยให้พวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ต่อการทำงาน
สอดคล้องกับผลสำรวจของ LinkedIn ที่พบว่า 69% ของผู้ที่พักทำงานกล่าวว่าการหยุดพักช่วยให้พวกเขาได้เพิ่มมุมมองในแง่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และ 68% กล่าวว่าการหยุดพักส่งผลให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น
ขณะที่โธมัสระบุว่า “การพักงานช่วยให้บางคนได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ รวมถึงได้รับประสบการณ์ตรงที่สามารถช่วยอาชีพของพวกเขาได้ในระยะยาว และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมด”
ทัศนคติที่มีต่อการว่างงานนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นายจ้างจำนวนมากตระหนักว่าการที่ผู้สมัครงานไม่ได้ทำงานประจำเป็นเวลานานไม่ได้หมายความว่าพวกเขาขาดทักษะหรือคุณสมบัติเสมอไป
ข้อมูลของ LinkedIn ในปี 2564 ระบุว่า 79% ของฝ่าย HR จะจ้างผู้สมัครที่มีช่วงว่างงานในประวัติการทำงาน แต่จากข้อมูลนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการรับสมัครงาน เพราะอาจจะเป็นผลจากการขาดแคลนแรงงาน และเศรษฐกิจตกต่ำจากยุคโควิดก็เป็นได้
- มุมมองการทำงานที่เปลี่ยนไป
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเจน Z เลือกหยุดพักการทำงานนั้น มาจากมุมมองต่อการทำงานที่เปลี่ยนไป พวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตมากกว่าการทำงานทั้งชีวิต และเห็นความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนที่ให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าการใช้ชีวิต นี่จึงทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เป็นแรงงาน กับคนรุ่นก่อนที่เป็นนายจ้าง ดังนั้น ชาวเจน Z จึงมีแนวโน้มที่จะลาออก หากพวกเขาไม่พอใจในที่ทำงาน
ขณะที่การสำรวจของสถาบันธนาคารแห่งอเมริกา เมื่อปี 2565 พบว่า 74% ของพนักงานเจน MZ (คนรุ่นมินเลนเนียลและเจน Z) มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานประจำภายในปี 2566 เพราะมองว่าขาดโอกาสในการพัฒนาฝีมือ และลาออกเพื่อปรับเงินเดือน ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ย้ายงานเมื่อปี 2564 ได้เงินเพิ่มโดยเฉลี่ยเกือบ 30% จากที่เดิม
ภายในปี 2568 พนักงานเจน Z จะมีสัดส่วนประมาณ 27% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัย “แมคครินเดิล” (McCrindle) และหากนายจ้างต้องการจ้างงานพนักงานคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ พวกเขาให้ความสำคัญกับความต้องการของพนักงานรุ่นใหม่ และไม่สามารถตัดสินพวกเขาจากเพียงแค่ข้อความไม่กี่บรรทัดในเรซูเมเท่านั้น
ที่มา: INSIDER