ผลวิจัยชี้ “เจน Z” ไม่ได้ขี้เกียจ แค่ไม่ชอบวัฒนธรรม “บูมเมอร์”

ผลวิจัยชี้ “เจน Z” ไม่ได้ขี้เกียจ แค่ไม่ชอบวัฒนธรรม “บูมเมอร์”

ผลวิจัยเผย คน “เจน Z” ไม่ได้ขี้เกียจ แต่แสดงการต่อต้านวัฒนธรรมองค์กรและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากองค์กรและคนรุ่นก่อน โดยอาศัยการตั้งสหภาพแรงงานและช่องทางการกฎหมาย รวมถึงใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตระหนักถึงสิทธิแรงงานที่ตนเองพึงมี

“เจน Z” หรือ กลุ่มคนที่เกิดในปี 2540-2555 กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งการมีใบปริญญาไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานอีกต่อไป เพราะเป็นสิ่งใคร ๆ ก็มี อีกทั้งความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เมื่อชาวเจน Z เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการทำงานที่เป็นธรรม และไม่ยอมทำตามวัฒนธรรมองค์กรที่เอาเปรียบหรือล้าสมัยอีกต่อไป

นอกจากนั้น คนรุ่นนี้ต่างรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับองค์กร เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานในบริษัทต่างๆ ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น Starbucks, Amazon, Home Depot, Minor League Baseball ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยคนเจน Z ทั้งสิ้น

 

  • ไม่ได้ขี้เกียจ แต่ไม่พอใจกับวัฒนธรรม

ในระยะหลัง เรามักได้ยินคนรุ่นก่อน หรือแม้กระทั่งบทความในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ระบุถึงชาวเจน Z ว่า เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ขี้เกียจ และไม่ทนงาน แต่ผลสำรวจเมื่อไม่นานนี้บ่งชี้ว่า “อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป” พวกเขาเพียงต้องการแสดงจุดยืนด้วยการไม่ยอมรับวัฒนธรรมองค์กรที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ เพราะไม่เห็นด้วยหรือมองว่าไม่ถูกต้อง

ผลสำรวจหลายสำนัก พบว่า คนเจน Z ไม่นิยมทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ทนให้เจ้านายกดขี่ข่มเหง และสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัว อีกทั้งพยายามจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เป็นพิษ ให้มีบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น

ไลลา ดอลตัน นักศึกษาวัย 20 ปีซึ่งถูกไล่ออกจาก Starbucks ร้านกาแฟสหรัฐที่มีสาขาทั่วโลกเมื่อต้นปีนี้ หลังจากจัดตั้งสหภาพแรงงานในสาขาที่ทำงานอยู่ เปิดเผยว่า เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทนกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สภาพสถานที่ทำงานที่ย่ำแย่ แถมยังถูกคนรุ่นอื่นในที่ทำงานแนะนำให้อดทน แต่ดอลตันและเหล่าเจน Z ไม่ได้คิดเช่นนั้น

“ฉันคิดว่า คนรุ่นฉันเริ่มตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมใด เราทุกคนสมควรได้ทำงานสถานที่เอื้อต่อการทำงาน”

จากข้อมูลล่าสุดของ National Society of High School Scholars ที่ทำการสำรวจกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐ จำนวน 11,000 คน พบว่า ปัจจัยที่คนเจน Z ให้ความสำคัญในการเลือกที่ทำงานมากที่สุด คือ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะในด้านเพศและเชื้อชาติ รองลงมาคือคุณภาพชีวิตในการทำงาน การผ่อนปรนของนายจ้าง และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า คนเจน Z มีแนวโน้มจะออกจากงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขาและหางานอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า จะเห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา และพร้อมที่เสี่ยงไปตายเอาดาบหน้าดีกว่าที่จะทนอยู่กับงานที่ไม่ความสุข

  • การก่อตั้งสหภาพฯ พุ่งเป็นประวัติการณ์

คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ไปจนถึงการลิดรอนสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive rights) ที่ครอบคลุมไปถึงการทำแท้ง ทั้งที่พวกเขามองว่า เจ้าของร่างกายควรมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง 

รีเบคกา จิวาน รองศาสตราจารย์ด้านแรงงานศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ จาก มหาวิทยาลัยลัตเกอร์สในสหรัฐระบุว่า คนเจน Z มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การลาออกไม่ใช่วิธีเดียวที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร หลายคนเลือกใช้การเปลี่ยนแปลงจากภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมในองค์กรเพื่อสร้างความเคลื่อนไหว หรือ การรวมตัวกันเป็นสหภาพ

“คนหนุ่มสาวจะหาวิธีปรับปรุงที่ทำงานและการทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาไม่สามารถลาออกและหางานใหม่ได้” จุน ชิน นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานวัย 23 ปีในนครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย กล่าว

ขณะที่ The Center for American Progress องค์กรวิจัยและสนับสนุนนโยบายสาธารณะของสหรัฐ ระบุว่า เจน Z เป็นวัยที่สนับสนุนการก่อตั้งสหภาพแรงงานมากที่สุดในสหรัฐ โดยใช้เวลากว่า 2 ปีในการเป็นตัวตั้งตัวตีประท้วงเรียกร้องสวัสดิการ จนสุดท้ายได้เข้าหารือกับบริษัทต้นสังกัด เพราะเชื่อว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานสามารถเป็นกลไกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรได้

โจนาห์ เฟอร์แมน  นักเขียนและผู้ก่อตั้ง Labor Notes องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงาน ชี้ให้เห็นถึงกระแสการเรียกร้องการเลือกตั้งของสหภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่หันมาใช้การจัดตั้งแรงงานเป็น “ทางออกทางการเมือง”

จากข้อมูลของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐ พบว่า ในปี 2565 มีการยื่นคำร้องเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานทั้งสิ้น 2,510 ครั้ง เพิ่มขึ้น 53% จากปี 2564 ซึ่งเป็นจำนวนการยื่นคำร้องที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 

ขณะที่รายงานเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ของ Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาระดับโลก ระบุว่า 77% ของพนักงานอายุ 18-34 ปีได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมสหภาพแรงงาน และเข้ามามีบทบาทในการจัดการสหภาพอย่างมากในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลของ The Center for American Progress ยังระบุอีกว่า อัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ เป็นแรงสนับสนุนชั้นดีที่ทำให้เกิดสหภาพแรงงานของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งความแตกต่างของแนวคิดทางการเมือง ก็ไม่ได้เป็นตัวทำลายแนวคิดของคนรุ่นใหม่แต่อย่างใด 

ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานมืออาชีพ กลุ่มคนเจน Z มองว่า การสนับสนุนสหภาพแรงงาน เป็นวิธีการปฏิเสธการเอารัดเอาเปรียบและยืนหยัดต่อสู้กับองค์กรที่ต้องการบดขยี้หรือเอาเปรียบพวกเขา เหมือนที่เคยทำกับรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา

นอกจากจะจัดตั้งสหภาพแล้ว คนเจน Z ยังหันไปพึ่งพาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ หรือ NLRB เมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐ เพราะคนรุ่นก่อนที่มักใช้การประท้วงมากกว่าพึ่งพากระบวนการทางกฎหมาย 

 

  • ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร

เจน Z เป็นวัยที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุดในสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะใช้ช่องทางเหล่านี้ทั้งทวิตเตอร์และติ๊กต็อก ในการให้ความรู้ด้านแรงงานแก่คนรุ่นใหม่

เอลลิส โจชิ  รักษาการผู้อำนวยการบริหารของ Gen-Z for Change กล่าวกับสำนักข่าว Insider ว่า “เราไม่ต้องการฝากชีวิตไว้กับซีอีโอที่ไม่สนใจเราแม้แต่น้อย ดังนั้นเรากำลังใช้กลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ที่เราได้เรียนรู้จากการเติบโตของยุคดิจิทัล ทั้งการใช้โซเชียลมีเดียและการสร้างแคมเปญออนไลน์”

ทั้งนี้ Gen-Z for Change เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของเยาวชน ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายของครีเอเตอร์และนักเคลื่อนไหวออนไลน์ 500 คน เพื่อสนับสนุนบทบาททางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วิกฤตสภาพอากาศ สิทธิในการเจริญพันธุ์ การลงคะแนนเสียง และสิทธิของแรงงาน

ปัจจุบัน ติ๊กต็อกเป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงคนเจน Z ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรใช้ติ๊กต็อกในการผลิตคอนเทนต์สนับสนุนสหภาพและให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ตลอดจนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ สิทธิคนข้ามเพศ และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยตระหนักว่า ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจมีมากกว่าแค่เรื่องเงินเดือน ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ ที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว

“คน Gen Z เห็นได้ชัดว่าประเด็นทั้งหมดเชื่อมโยงกันอย่างไร และเราต้องเข้าใจกับปัญหาทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นเรื่องใหญ่” โจชิกล่าว

ในยุคนี้ การเคลื่อนไหวของแรงงานในสหรัฐนั้นแข็งแกร่งและเข้าใจการใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากการมีส่วนร่วมของคนเจน Z ซึ่งจะทำให้อนาคตของแรงงานนั้นสดใสมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของเจน Z ที่คนหาไม่ได้จากคนเจนอื่นคือ “ความกล้าที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง”


ที่มา: American ProgressCNNGallupInsiderNational Labor Relations Board