“Situationship” ความสัมพันธ์แบบคลุมเครือ ที่นิยมในหมู่ “เจน Z”
ทำความรู้จัก “Situationship” ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่มาแรงของชาว “เจน Z” มีลักษณะความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน แต่ก็ไม่ยอมเป็นแฟน อยู่กันแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะรักก็ไม่รัก จะทิ้งก็ไม่ทิ้ง
เมื่อเราเริ่มเรียนรู้ ทำความรู้จักกับใครสักคนไปในระยะเวลาหนึ่ง เป็นเรื่องปรกติที่เรามักจะต้องการความชัดเจนในความสัมพันธ์นั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองอยู่ในสถานะอะไร เพื่อน คนคุย พื้นที่ปลอดภัย หรือ คนรัก และประเมินสถานการณ์ต่อไปได้ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่วิธีคิดนี้อาจจะไม่ใช้ไม่ได้กับหนุ่มสาวชาว “เจน Z” ที่นิยมมีความสัมพันธ์แบบ “Situationship” ที่มากกว่าเพื่อน แต่ก็ไม่ยอมเป็นแฟน อยู่กันแบบคลุมเครือ
เอลิซาเบธ อาร์มสตรอง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐ ผู้วิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว ระบุว่า ความสัมพันธ์แบบ Situationship เป็นขั้นตอนหนึ่งในการออกเดตที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ เจน Z หรือกลุ่มผู้ที่เกิดในระหว่างปี พ.ศ.2540-2555 มีอายุตั้งแต่ 9-24 ปี
“ความสัมพันธ์แบบนี้สามารถแก้ปัญหาความต้องการทางเพศ ความใกล้ชิด ความเป็นเพื่อนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน”
ในปัจจุบัน ผู้คนต่างหันมาสนใจกับการจัดประเภทและหาคำนิยามเรียกความสัมพันธ์มากขึ้น จากข้อมูลของ Google เสิร์ชเอนจินรายใหญ่ของโลก พบว่า Situationship มีการค้นหาสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ หลังจากที่เริ่มได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงปลายปี 2563
การเติบโตของความสัมพันธ์รูปแบบนี้แสดงให้เห็นว่า คนเจน Z นั้น ได้ทำลายกำแพงรูปแบบความสัมพันธ์ของคนรุ่นก่อน ๆ ลง และสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขามากยิ่งขึ้น
- ความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องขยับไปไหน
Situationship เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่เชื่อมต่อทั้งทางอารมณ์และทางกายภาพ โดยไม่มุ่งหวังที่จะผูกมัดหรือครอบครองด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นคนรัก บางครั้งความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยปีสุดท้ายสองคนอาจจะยังไม่ได้ตกลงเป็นคู่รักกัน เพราะต่างรู้ดีว่าพอเรียนจบแล้วอาจจะต้องแยกย้ายกันไปเติบโตหลังจากเรียนจบ จึงปล่อยจอยกับความสัมพันธ์แบบนี้
ศาสตราจารย์อาร์มสตรอง ระบุอีกว่า Situationship กลายเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นการท้าทายต่อค่านิยมของสังคมที่เรียกว่า “การยกระดับความสัมพันธ์” (The Relationship Escalator) ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม ที่สังคมคาดหวังในรูปแบบความสัมพันธ์ที่พัฒนาและก้าวไปตามลำดับที่ควรจะเป็น ตั้งแต่เริ่มทำความรู้จักกัน คบกันเป็นแฟน แต่งงาน กลายเป็นคู่ชีวิต
อีกทั้ง Situationship เป็นการต่อต้านความคิดการคบอยู่กับใครสักคนโดยที่ความสัมพันธ์แบบคืบหน้าเป็นเรื่องที่เสียเวลา ซึ่งความสัมพันธ์รูปแบบนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรู้ดีและตกลงปลงใจที่จะอยู่ด้วยกันในพื้นที่แห่งความคลุมเครือนี้ โดยอาร์มสตรองกล่าวว่า “พวกเขาสะดวกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ และตอนนี้ยังไม่อยากจะขยับความสัมพันธ์ไปไหน”
จากการศึกษาของ ลิซา เวด รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยทูเลน ในสหรัฐ ที่สัมภาษณ์นักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 150 คนในปีการศึกษา 2563-2564 พบว่า คนเจน Z ลังเลที่จะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ของตนเอง และไม่แชร์ความรู้สึกที่มีต่อกัน พร้อมมีระยะห่างในความสัมพันธ์อยู่บ้าง ซึ่งทำให้มีอิสระในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น
ขณะที่บนโซเชียลมีเดีย ทั้งในทวิตเตอร์และติ๊กต็อก ชาวเจน Z พูดถึงและแบ่งปันความสัมพันธ์ของตนเองผ่าน #situationship อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังถูกพูดถึงใน ป๊อป คัลเจอร์ อีกด้วย ทั้งปรากฏใน Love Island UK รายการหาคู่สุดฮิต และ เพลงฮิตอย่าง Situationship ของ สโน อาเลกรา ศิลปินชาวสวีเดน
- ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว
เมื่อ เจน Z เข้าสู่ช่วงวัยที่จะมีความรัก เริ่มออกเดต ก็ต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่คนรุ่นก่อนไม่เคยเจอ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เจอผู้คนได้ยากลำบากยิ่งขึ้น และต้องหันมาเดตออนไลน์มากขึ้น
อีกทั้งคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองว่าการสร้างครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมากขนาดนั้น เพราะพวกเขาต้องเผชิญวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนความวุ่นวายทางการเมืองและสังคม ทำให้ชาวเจน Z เลือกแสวงหาความมั่นคงทางการเงินและอาชีพก่อน
“คนรุ่นใหม่มักพูดว่าความสัมพันธ์ทำให้พวกเขาเสียสมาธิจากเป้าหมายด้านการศึกษาและอาชีพการงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องผูกมัดมากเกินไปจึงเหมาะสมกับพวกเขา เพราะคุณอาจสูญเสียเส้นทางชีวิตของตัวเองเพื่อคนอื่น” เวดกล่าว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Situationship จะกลายเป็นที่นิยมของคนเจน Z และกลายเป็นเรื่องปกติที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน แทนที่จะหลีกหนีเหมือนคนรุ่นอื่น ๆ แต่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์นี้
เวดกล่าวว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ความสัมพันธ์นี้จะดำเนินไปได้ด้วยดี เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเปิดใจคุยกันถึงความต้องการอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะมนุษย์ล้วนมีความรู้สึก ยิ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้มากขึ้นด้วยแล้ว ย่อมเท่ากับว่าความต้องการของทั้งคู่ไม่ตรงกัน และความสัมพันธ์นี้ก็อาจจบลงอย่างไม่สวยงามเหมือนที่คิดไว้
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์ก็ยังคงเป็นเรื่องของคนสองคน ตราบใดที่ทั้งคู่ยังมีความสุขและสบายใจที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ ก็ไม่มีอะไรถูกหรือผิด เพราะพวกเขาเป็นคนกำหนดมันเอง
ที่มา: BBC, Bustle, Forbes, NBC News