เหยียบความกลัวไว้กับดิน ‘ครูอ้อ’ ผู้พลิกวิกฤติชีวิต ด้วยงาน 'หัตถกรรม'
ทำความรู้จัก 'ครูอ้อ-อำพร วงค์ษา' ผู้ที่สามารถพลิกวิกฤติชีวิต จากความจำเป็นต้องทิ้งอาชีพที่รัก เพื่อมาดูแลแม่ที่ป่วย และสามีความจำเสื่อม ด้วยการใช้งาน 'หัตถกรรม' ที่ตัวเองรัก สร้างอาชีพ ส่งต่อความรู้ สู่การสร้างรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง
Key Point :
- ครูอ้อ - อำพร วงค์ษา หญิงชาวเหนือ จ.ลำพูน วัย 45 ปี ที่ต้องพบกับวิกฤติในชีวิตแม่ล้มป่วย สามีความจำเสื่อม และต้องลาออกจากอาชีพที่รักเพื่อมาดูแลคนในครอบครัว
- 17 ปี ที่ผ่านมา ครูอ้อ ต่อสู้กับอุบัติเหตุของชีวิต โดยมองว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เราสามารถลิขิตชีวิตเราได้ ด้วยการใช้ความถนัดอย่างงานหัตถกรรม สร้างอาชีพให้กับตนเอง
- อย่างไรก็ตาม ครูอ้อไม่ได้หยุดแค่การดูแลครอบครัวตัวเองเท่านั้น แต่ยังขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน เรียกว่า วันนี้ครูอ้อไม่ได้สู้คนเดียว แต่ยังช่วยพยุงคนอื่นได้อีกด้วย
“การที่เราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเหยียบความกลัวของเราไว้กับดิน และต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองด้วยพลังที่เรามี มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะหากไม่ลุกขึ้นมาสู้และไม่ลุกขึ้นมาทำ เราก็จะไม่เจอความสำเร็จเลย” คำบอกเล่าจาก ครูอ้อ - อำพร วงค์ษา หญิงชาวเหนือ จ.ลำพูน วัย 45 ปี ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม ที่ไม่เชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่เราสามารถลิขิตชีวิตเราได้
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ครูอ้อ จำเป็นออกจากการเป็นครูอนุบาล เพื่อมาดูแลแม่ที่ล้มป่วย หลังจากนั้นเพียง 2 ปี อุบัติเหตุของชีวิตก็เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากสามีกลับมาจากทำงานต่างประเทศ และเกิดล้มป่วยความจำเสื่อมจากการถูกสารเคมีขณะทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ครูอ้อจากที่เป็นผู้ตามมาตลอด ต้องพลิกตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัว ด้วยการลุกขึ้นสู้ หยิบงานหัตถกรรมที่ตนเองรักสร้างรายได้ โดยเริ่มจาก ‘งานถัก’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถนัด พัฒนาฝีมือ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาดมากที่สุด จนทุกวันนี้ ครูอ้อไม่ได้หยุดแค่การดูแลครอบครัวตัวเองเท่านั้น แต่ยังขยายสิ่งเหล่านี้มาสู่ชุมชน เรียกว่า วันนี้ครูอ้อไม่ได้สู้คนเดียว แต่ยังช่วยพยุงคนอื่นได้อีกด้วย
“การที่เราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเหยียบความกลัวของเราไว้กับดิน และเราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองด้วยพลังที่เรามี มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะหากเราไม่ลุกขึ้นมาสู้และไม่ลุกขึ้นมาทำ เราก็จะไม่เจอความสำเร็จเลย”
จากชีวิตที่คิดถึงแค่ความอยู่รอด
ครูอ้อ เล่าว่า ณ วันนั้นไม่ได้คิดถึงความสำเร็จ แต่คิดถึงแค่ความอยู่รอด ทำอย่างไรให้ผ่านแต่ละวันไปให้ได้ ทำอย่างไรให้ลูก พ่อ แม่ มีอยู่มีกิน ทำอย่างไรให้สามีมีสุขภาพดีขึ้นและเราจะได้มีโอกาสทำสิ่งอื่น จากเดิมที่เราเป็นครูสอนอนุบาล พอสามีป่วยก็ไม่สามารถทำงานที่ตัวเองรักได้ ตอนนั้นเสียใจมากที่ต้องลาออกจากการเป็นครู แต่เราต้องเลือกครอบครัว และต้องกลับมาดูแลครอบครัว
“จากที่เรามีเงินเดือน แล้วต้องมาอยู่แบบไม่มีเงินเดือนมันทำให้ชีวิตเราลำบาก ทำเกษตรไม่ได้เพราะมีภาระที่ต้องดูแล จึงจำเป็นที่จะต้องหาอะไรสักอย่างเพื่อเป็นอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารัก คือ หัตถกรรม ด้วยการที่ชอบเย็บปักถักร้อย ‘งานถัก’ จึงเป็นงานแรกที่เลือก ถักผ้าม่าน ผ้าคลุมไหล่ ถักเสื้อ และไปทำเสนอขายและได้ตลาด จากนั้นทำให้ชีวิตเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เริ่มหาคนมาทำช่วยและมีออเดอร์”
คิด แล้วทำทันที
ครูอ้อ เล่าต่อไปว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยขายของเลย แต่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน หากเรากลัว หรือไม่กล้า ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นเราต้อง ‘ทำทันที’ หากเขาไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร แต่เขาจะบอกความต้องการของเขาให้เรารู้เอง แล้วเราก็ไปพัฒนาของตนเองเพื่อตอบโจทย์
ทั้งนี้ ครูอ้อ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีโอกาสเข้าเรียนในโครงการพลังปัญญาของเอสซีจี ในปี 2558 และนำความรู้มาพัฒนา ต่อยอดสู่การเข้าร่วม ‘โครงการพลังชุมชนของเอสซีจี’ ซึ่งเป็นหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ชุมชน สร้างอาชีพยั่งยืน ขยายผลศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนา พึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอัตลักษณ์สินค้าให้โดดเด่น รู้จักตลาดก่อนผลิตและขาย สร้างแบรนด์ทำการตลาด ขยายช่องทางการขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงวางแผนชีวิตเพื่อความยั่งยืน
“โครงการพลังชุมชนของเอสซีจี สอนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ด้วยการทำงานที่ตัวเองรักและถนัด คือ งานหัตถกรรม เช่น การเย็บปัก ทำดอกไม้ประดิษฐ์ และเราทำมันได้เต็มที่ สามารถพัฒนาต่อยอด ช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังได้แบ่งปันความรู้ให้คนในชุมชนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำ พึ่งพาตัวเอง เราพัฒนาจากสิ่งที่เรามี ก็สามารถช่วยเหลือแบ่งปันคนอื่นได้”
ต่อยอดพัฒนากลุ่มเปราะบาง
เมื่อเริ่มมีศักยภาพช่วยเหลือชุมชนได้ในระดับหนึ่ง จึงเริ่มเปิดเป็น ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ. ลำพูน ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปักผ้า ผ้าย้อมดิน เป็นต้น อีกทั้งยัง มองเรื่องของงานหัตถกรรมในการหยิบยกภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ่ายทอดเป็นประเพณีวัฒนธรรม สะท้อนถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ปัจจุบัน มีการขยายงานให้คนในชุมชนมีงานทำ รวมถึงต่อยอดสู่กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่ม จุนเจือครอบครัว มีทักษะและการสร้างรายได้
โดยปีที่ผ่านมา ครูอ้อ ใช้เวลา 3 เดือน ในการสอนคนกลุ่มเปราะบางราว 25 คนและปีนี้ 2566 นี้ ตั้งเป้าขยายความรู้สู่กลุ่มเปราะบางมากยิ่งขึ้น ในศูนย์ผ่าหนามจากเดิมมีอยู่ 30 คน จะพัฒนาเพิ่มอีก 30 คน และ ศูนย์ฮักบ้านเกิด 30 คน จากกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่มีกว่า 600 คน ซึ่งดูจากศักยภาพ และความพร้อม โดยมีครูที่เสียสละตัวเองมาช่วยแบ่งปันเวลาในการสอน และพัฒนากลุ่มเปราะบางให้สามารถถ่ายทอดความรู้เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
“การพัฒนาคนที่มีจิตใจครบสมบูรณ์ครบถ้วนว่ายากแล้ว แต่การพัฒนาคนกลุ่มเปราะบางยากยิ่งกว่า เพราะเราต้องใส่ใจทุกเรื่องและให้เขาได้มีเวทีของเขา จากที่เรารู้ต้องเป็นคนที่ไม่รู้และรับฟังเยอะๆ จากเดิมที่เป็นคนพูดมาก ก็ต้องเปลี่ยนมาพูดน้อยๆ ไม่เช่นนั้นเราจะพัฒนาเขาไม่ได้ พอพัฒนาน้องๆ เหล่านี้ได้ เขาจะเป็นตัวแทนของเราในวันที่เราต้องออกไปหาสิ่งใหม่ เพื่อมาเติมเต็ม น้องๆ ก็สามารถพัฒนางาน ดูแลงานแทนได้ ทุกอย่างยังขับเคลื่อน โดยมีการร่วมประชุมกัน 1 ครั้งต่อเดือน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเมื่อมีออเดอร์เข้ามา ลงพื้นที่พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ”
ยมลพร หิรัญทาสันต์ ตัวแทนจากกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีลูกพิการด้านสติปัญญา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำอาชีพ ไม่มีรายได้ มีเพียงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือลูกที่พิการ 2,400 บาทต่อเดือน ด้วยความที่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษทุกวัน จึงมีครูแนะนำให้รู้จักกับครูอ้อ ทำให้เราได้ฝึกอาชีพ เรียนปักผ้า มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 400-500 บาทต่อเดือน สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวเพิ่มได้ โดยใช้เวลากลางคืนหลังลูกหลับราว 21.00 น. ในการปักผ้า ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ 'ยมลพร' เรียกว่าเป็นคนที่ฝีมือดีและมีความรับผิดชอบสูง จึงถือเป็นตัวแทนของครูอ้อในการดูแลกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว 10 คน ในการประสานงานส่งงาน หรือช่วยสอนในวันที่ครูอ้อไม่อยู่ โดยหลังจากนี้ จะได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการชุมชนและครูจิตอาสาในพื้นที่
ด้าน อรนุช วิชิตวรกุล ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง คือ น้องชายประสบอุบัติเหตุ สมองเสียหายกว่า 10 ปี ทำให้ไม่สามารถไปไหนได้ ปัจจุบัน ประกอบอาชีพทำสวนลำไย เล่าว่า รู้จักครูอ้อได้แค่ 3 วัน เนื่องจากทางเทศบาลตำบลลี้ ได้มีการจัดโครงการอบรมสร้างอาชีพให้กับผู้พิการและผู้ดูแล จึงได้มีโอกาสเจอครูอ้อ
"แต่ก่อนเราคิดว่าทำงานสวยๆ งามๆ แบบนี้ไม่ได้ แต่พอได้ลองทำจึงรู้ว่าสามารถทำได้ แม้ว่าจะไปช้ากว่าคนรอบข้างแต่ก็สามารถพัฒนาได้ ขณะเดียวกัน เรามองไปถึงชุมชนว่า แต่เดิมชุมชนมีการรวมกลุ่มกันบ้าง เช่น ทำน้ำพริก และเห็นว่ามีคนว่างงานอย่าง คนแก่ พี่ๆ ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่บ้านด้วย จึงมองว่าคนกลุ่มนี้ก็ว่างงานเหมือนกัน หากเราสามารถพัฒนาฝีมือของเราได้ เราก็จะสามารถรวมกลุ่มกันสอนเขาให้ทำได้ ข้อดีคือ มีตลาดรองรับ เราไม่ต้องคิดว่าทำแล้วจะไปขายให้ใคร” อรนุช กล่าว
ท้ายนี้ ครูอ้อ กล่าวว่า จากเดิมที่ร้องไห้ทุกวัน แต่ตอนนี้ไม่ร้องไห้แล้ว เพราะเราผ่านตรงนั้นมาได้ ทำให้มีความภูมิใจในตัวเอง เห็นคนที่เขาอยู่เคียงข้างเรามีความสุข สามีหายจากความจำเสื่อมแม้จะต้องกินยาตลอดชีวิต น้องๆ มีศักยภาพดูแลตัวเองได้ และดูแลเครือข่าย แบ่งปันให้คนอื่นได้ ตัวเราเองก็มีความสุข
ทั้งนี้ จากความพยายามที่จะสร้างครอบครัวที่พังไปแล้วให้กลับมาเป็นครอบครัวที่ดีเหมือนเดิม ทำให้ ล่าสุด ครอบครัวของครูอ้อ ได้รับการคัดเลือกเป็น ครอบครัวร่มเย็นระดับประเทศ ซึ่งจะเข้ารับรางวัลกับนายกรัฐมนตรีเดือนเมษายน 2566 นี้
"ตอนนี้ลูกๆ ทุกคน ลูกสะใภ้ และหลาน รวมถึงลูกบุญธรรม 4-5 คน ก็มาใช้ชีวิตอยู่กับแม่ทั้งหมด เราก็จะกลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่ไม่เคยสมบูรณ์แบบเลย แต่เรากำลังสร้างชีวิตให้สุขในแบบที่เรามี” ครูอ้อ กล่าวทิ้งท้าย