คนไทยรู้ตัวติดเชื้อเอชไอวีช้า ให้ชุดตรวจฟรี- ห้ามรพ.เอกชนส่งผลให้นายจ้าง
คนไทยรู้ตัวติดเชื้อเอชไอวีช้ากว่า 50 % วัยรุ่นติดเชื้อสูงขึ้นเท่าตัว อัตราใช้ถุงยางต่ำ เพิ่มสิทธิประโยชน์ชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ฟรี เข้าถึงง่าย-แก้ปัญหาวินิจฉัยล่าช้า ห้ามรพ.เอกชนรับตรวจหาเชื้อกรณีใช้เป็นเงื่อนไขรับคนเข้าทำงาน เป้ายุติปัญหาเอดส์ภายในปี73
Key Points:
- ปี พ.ศ. 2565 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกวินิจฉัยรายใหม่ จำนวน 17,809 คน มีถึง 52 % ที่รู้สถานะการติดเชื้อช้า ขณะที่วัยรุ่นพบการติดเชื้อมากขึ้นเท่าตัว
- เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ฟรี ส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่เข้าถึงง่าย และไม่ให้รพ.เอกชนรับตรวจหาเชื้อกรณีใช้เป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน
- ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ร่วมยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายหลัก ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย
คนไทยรู้ตัวช้าว่าติดเอชไอวี
ข้อมูลกรมควบคุมโรค ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกวินิจฉัยรายใหม่ จำนวน 17,809 คน มีถึง 52 % ที่รู้สถานะการติดเชื้อช้า โดยถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อมีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำมาก คือ จำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี 4 น้อยกว่า 200 หรือมีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว
นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2564 พบ วัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ส่วนในปี 2565 พบวัยรุ่นและเยาวชนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ถึง 22.2 % จากผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2551 พบ 9.5 %
สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ยังคงต่ำ จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีในปี 2562 กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียง 80.3 %
และการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง ยังมีอัตราที่ต่ำมาก โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัยกับแฟนและคนรัก มีอัตราไม่ถึง 40 % ดังนั้น จึงต้องย้ำให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อให้มีรักที่ปลอดภัย
ชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ฟรี
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เพิ่มประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่เข้าถึงง่าย เป็นไปโดยสมัครใจและเป็นความลับ ช่วยส่งเสริมให้การตรวจเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้รับการตรวจเพิ่มขึ้น
และผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการวินิจฉัยและรักษาเอชไอวีล่าช้า อยู่ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยการจัดบริการให้กับหน่วยบริการ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สนับสนุนให้คนไทย วัยรุ่นและเยาวชน เข้ารับการตรวจคัดกรองเอชไอวีแบบสมัครใจ โดยข้อมูลผู้รับบริการทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ เจ้าหน้าที่จะให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ ประเมินความเสี่ยง และตรวจคัดกรองหาเชื้อ
- โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว
- ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็รู้ผล
- หากผลตรวจยืนยันเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะได้รับการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาทันที
- หากผลเป็นลบหรือไม่พบการติดเชื้อ จะได้รับบริการส่งเสริมการป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย
- สามารถศึกษารายละเอียดและประเมินความเสี่ยงได้ที่ Line Official Account “Buddy Square” ID Line : @549vhjtt
ไม่ให้ตรวจเอชไอวี-รับเข้าทำงาน
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหา โดยกระทรวงแรงงานได้มีการทำหนังสือออกประกาศถึงสถานประกอบการทุกแห่งทั่วประเทศแจ้งว่า ไม่ให้สถานประกอบการบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีและเอาผลการตรวจมาใช้กีดกันในการเข้าทำงาน ในส่วนของสถานพยาบาล ทางกรมควบคุมโรคจะทำหนังสือถึง รพ.เอกชนให้ทราบถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
"กรมทำหนังสือแจ้งรพ.เอกชนย้ำให้ชัดเจนว่า การที่สถานประกอบการส่งคนมาตรวจสุขภาพก่อนรับเข้าทำงาน หากมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยถือเป็นข้อห้าม ไม่ควรรับตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี แต่หากผู้มารับบริการประสงค์ที่จะขอตรวจ ก็ต้องดำเนินการตรวจตามมาตรฐาน เมื่อผลตรวจออกมาก็ต้องส่งผลตรวจให้แก่ผู้มารับบริการโดยตรง ไม่ใช่ส่งไปที่นายจ้าง ดังนั้น ก่อนจะทำข้อตกลงระหว่างสถานประกอบการกับ รพ.เอกชนในการรับตรวจสุขภาพ ก็ควรทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน" นพ.ธเรศกล่าว
ยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 73
ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 กำหนดวิสัยทัศน์คือ "การร่วมยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ
- ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย
- ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย
- ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลง 90 %
มีหลักการพื้นฐาน ดังนี้
- การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่มีประชากรใดถูกละเลย
- การเคารพ ปกป้อง คุ้มครอง สิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคทางเพศ
- การเป็นเจ้าของ และร่วมรับผิดชอบของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
ดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : มุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิผลสูงและรอบด้าน ให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและมีโอกาสรับและถ่ายทอดเชื้อเอซไอวีสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ยกระดับคุณภาพและบูรณาการการดำเนินงานป้องกันที่มีประสิทธิผลเดิมให้เข้มข้นและยั่งยืนในระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : พัฒนาและเร่งรัดการรักษา ดูแล และช่วยเหลือทางสังคมให้มีคุณภาพ รอบด้านและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน รวมทั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิ เพื่อลดการรังเกียจกีดกัน การเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : เพิ่มความร่วมรับผิดชอบ การลงทุน และประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคส่วนทั้งระดับนานาชาติ ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และการวิจัยที่รอบด้านและมีประสิทธิภาพ