แนวโน้มจ้างงานในไทยปี 66 พุ่ง เช็ก 3 สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ
ManpowerGroup เผยแนวโน้มตลาดจ้างงานในไทยปี 2566 เพิ่มขึ้น ขณะที่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ระบุ 3 สายงาน ไอที-โลจิสติกส์- Sales กับ Marketing เป็นที่ต้องการของตลาดในไทย พร้อมย้ำแรงงานไทยต้อง Reskill-Upskill โดยเฉพาะทักษะด้านไอที และภาษา
Keypoint:
- 4 เทรนด์แนวโน้มการจ้างงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น คนหางานยากขึ้น เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น คนทำงานสมดุลใช้ชีวิต และบริษัทปรับตัว
- ไทยขาดแคลนแรงงานสายไอที แต่ละปีมีบัณฑิตจบ 8,000 คน แต่เข้ามาทำงานสายไอที ไม่ถึง 70%
- แรงงานไทยต้องรีสกิล อัพสกิล ยกระดับฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะด้านไอที และภาษา เพิ่มโอกาสจ้างงาน
ในการสำรวจแนวโน้มการจ้างงานของ ManpowerGroup ฉบับล่าสุดจากนายจ้างเกือบ 39,000 ราย มี 12 ประเทศจาก 41 ประเทศและดินแดนรายงานความตั้งใจที่สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า นายจ้างทั่วโลกยังคงคาดว่าจะจ้างคนทำงานเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยรายงานแนวโน้มการจ้างงานสุทธิทั่วโลกในแต่ละปีพบว่า แนวโน้มในการจ้างงานลดลงในทุกปี และทุกไตรมาส 14% และ 6% ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการว่างงานในช่วงโควิด-19
นายโจนาส ไพรส์ซิ่ง ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแมนพาวเวอร์กรุ๊ป แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มการจ้างงานในตลาดโลก ท่ามกลางสภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงด้านแรงงานครั้งยิ่งใหญ่ของโลก” ว่าในช่วงโควิด-19 แต่ละประเทศได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอยู่จุดไหนของโลก ซึ่งทุกประเทศต่างมีความยากลำบากในการหางาน
อย่าง ประเทศอเมริกามีการว่างงานสูงสุดรอบ 55 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้นได้แก่ จำนวนประชากร อัตราการเกิด เทคโนโลยี และบริษัทต้องปรับตัวในด้านซัพพลายเชน ขณะที่คนสมัครหางาน หรือคนทำงานมีการตัดสินใจการทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น เป็นความการยากในการหาคนเข้ามาทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
การจ้างงานปี 66 สัญญาณฟื้นตัวชัด แต่มีหลายปัจจัยต้องเฝ้าระวัง
ปี 66 ปีทองตลาดผู้สมัครงาน แนะผู้ประกอบการปรับตัวก่อนขาดบุคลากร
ไทยต้อง Reskill-Upskill ฝีมือแรงงาน
“ในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่มีเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น แต่เทรนด์ที่มีอยู่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมี 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ 1. คน การหาคนทำงานเป็นไปได้ยากขึ้น และทักษะที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนทั้งหมด 2.เทคโนโลยี ก่อนเกิดโควิด-19 มีการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเพียง 5% แต่พอเกิดโควิด-19 ส่งผลให้การทำงานที่บ้านและมีการใช้เทคโนโลยีมากถึง 40% 3.การตัดสินใจในการทำงาน รูปแบบการทำงานของคนเปลี่ยนไป สนใจการทำงานที่ได้ใช้ชีวิตร่วมด้วย และ 4.บริษัท เริ่มมีมองมุมใหม่ มองทั้งซัพพลายเชน และผลกระทบที่เกิดกับบริษัท”นายโจนาส กล่าว
นายโจนาส กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกส่วนของตลาดแรงงาน จะเป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทำงานแบบไฮบริด ทำงานนอกสถานที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็งมาก ทำให้ไม่ได้มีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการเปลี่ยนแปลงหรือการล้มสลายของธนาคารในต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือไม่นั้น ขณะนี้คงไม่สามารถสรุปได้ หรือบอกว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อการจ้างงานของโลก หรือจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่คาดว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เร่งเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ในส่วนของเทรนด์ที่น่าจับตามอง คือ เรื่องการ Reskill -Upskill การพัฒนาฝีมือแรงงาน ทักษะที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีกำลังเข้ามา ส่วนที่แรงงานกังวลว่าเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เทคโนโลยีเข้ามาเสริมทักษะของคนมากขึ้น เพราะหากคนไม่มีทักษะไอทีรองรับก็จะไม่สามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของงานได้ ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีประเทศไหนที่สร้างคน Reskill และUpskill ได้อย่างสำเร็จ
เชื่อมั่นไทยไม่ประสบปัญหาการจ้างงาน
“ตลาดแรงงานในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้น เนื่องจากมีธุรกิจมากขึ้นซึ่งตรงข้ามกับประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา หรือประเทศจีน ที่ขณะนี้แนวโน้มตลาดงานกำลังลดลง ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งด้านไอที และภาษาให้มากขึ้น ต้องมีการปฎิรูประบบการศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่บริษัท ผู้ประกอบการต้องมี Reskill และUpskill คนภายในองค์กร ซึ่งหากคนมีคุณภาพการลงทุนต่างๆ จะเกิดขึ้นในไทย” นายโจนาส กล่าว
นายไซม่อน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น กล่าวว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดแรงงานจะถูกกระทบโดยปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และประชากร โดยเฉพาะในประเทศไทย ภายในปี 2026 ประชากรจะมีเหลือเพียง 40 ล้านคน ซึ่งการที่ภาครัฐช่วยในการผลิต ทักษะในการทำงาน อย่าง Thailand 4.0 ทั้งเรื่องเทคโนโลยี และมีการอัพสกิล น่าจะช่วยให้มีงานบางงานเกิดขึ้นมา แต่อาจจะมีบางงานที่สูญหายไป
ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แมนพาวเวอร์ ได้ทำหน้าที่สนับสนุนทักษและอัพสกิลให้แก่คนทำงาน อีกทั้งได้บรรจุหางานให้แก่คนไทยจำนวนหลายพันคน อย่างไรก็ตาม ทักษะที่จำเป็นที่ทุกคนต้องมี คือ ทักษะความสามารถที่จะเรียนรู้ ในทุกเรื่อง
“ประเทศไทยมีการจ้างงานหลังโควิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าไทยจะไม่เจอปัญหาการจ้างงาน แต่อาจจะมีกระทบในส่วนของสินค้าส่งออก เนื่องจากยุโรป อเมริกา เศรษฐกิจซบเซา ดังนั้น แรงงานไทย ธุรกิจไทยต้องปรับตัวดึงฐานการผลิต และเพิ่มการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น”นายไซม่อน กล่าว
3 สายงาน ตลาดงานในประเทศต้องการ
น.ส.ลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวถึงภาพรวมแมนพาวเวอร์ประเทศไทย และแผนงานการตลาดของแมนพาวเวอร์ประเทศ ไทย ว่าแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เป็น 1 ใน 75 สาขาทั่วโลกของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2541 จนปัจจุบันมีสำนักงาน 6 แห่ง สีลม สาทร บางนา ชลบุรี สงขลา และลำพูน เปิดบริการทั้งในส่วนของ การสรรหาพนักงานประจำ, สัญญาจ้างระยะสั้น และ Outsourcing ในทุกตำแหน่งตามความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกัน บริการ Visa & Work Permit Payroll, Outplacement และ Japanese Service รวมถึง Chinese Service
ในแต่ละปี แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ทำงานให้กับพนักงานมากกว่า 15,000 คนและช่วยเหลือลูกค้ามากกว่า 400 ราย ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการว่างงานในไทยจะบอกว่ามีเพียง 1.2% เท่านั้น แต่ในการหางาน กลับพบว่าการหาคนที่มีทักษะเหมาะกับงานเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ หน่วยงานต้องช่วยกันในการพัฒนาคน พัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงงานมากขึ้น
“3 สายงานที่ต้องการกำลังคนจำนวนมากในประเทศไทย จะประกอบด้วย สายงานด้านไอที ต้องการพนักงานตั้งแต่ระดับจูเนียร์ไปจนถึงผู้จัดการ ซึ่งผู้สมัคร 1คน จะมีงานรองรับอยู่ 3 ตำแหน่ง โดยสาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนกำลังคนด้านนี้ เพราะว่าในแต่ละปีจะมีเด็กจบไอที 8,000 คน แต่เข้ามาทำงานสายไอที ไม่ถึง 70% รวมถึงสายงานโลจิสติกส์ และสายงาน Sales กับ Marketing ซึ่งเป็นที่ต้องการมากๆ”น.ส.ลิลลี่ กล่าว