ก่อสร้างปรับตัวในยุคแรงงานขาด-ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
ถึงเวลาภาค"ก่อสร้าง"ไทยต้องปรับตัวในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหลังจากแรงงานขาดแคลนรุนแรงขึ้น เทคโนโลยีก่อสร้าง จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ความไม่สอดคล้องกันระหว่างลักษณะงาน กับโครงสร้างกำลังแรงงานในภาคก่อสร้าง อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานมีแนวโน้มลดลง ในปี 2557 สัดส่วนแรงงานที่อายุ 50 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 25% ของแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวม และได้ปรับตัวสูงขึ้นมาสู่ 29% ของแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวมในปี 2565
สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างลักษณะงาน กับโครงสร้างกำลังแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไปในภาคก่อสร้าง รวมถึงยัง"ขาด"การนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ เพื่อลดการใช้แรงงานพื้นฐาน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานในภาคก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า
เทรนด์ ESG เป็นแรงกดดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และปรับกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ลดการก่อมลภาวะ ลดการใช้ทรัพยากร และพลังงาน บริหารจัดการของเหลือ และขยะจากงานก่อสร้าง
2. ด้านสังคม เช่น มีความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง มีความเป็นอยู่และสวัสดิการที่ดีสำหรับแรงงาน
3.ด้านบรรษัทภิบาล เช่น จัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส ใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน
SCB EIC มองว่า การใช้เทคโนโลยีก่อสร้างจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และตอบโจทย์เทรนด์ ESG โดยการส่งเสริมให้มีการใช้ BIM อย่างแพร่หลายมากขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาคก่อสร้าง
ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital transformation สำหรับในระยะต่อไป การนำ Building Information Modeling (BIM) มาเชื่อมต่อกับ Internet of Things (IoTs) เป็นเทคโนโลยี Digital twins ซึ่งเป็นแบบจำลองทางดิจิทัล ที่เหมือนกับข้อมูลการก่อสร้างทางกายภาพอย่างสมบูรณ์ จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ รวมถึงเทคโนโลยีกลุ่มที่ควรส่งเสริมเพิ่มเติม
ซึ่งช่วยลดการใช้แรงงานพื้นฐาน ได้แก่ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ก่อสร้าง ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงในงานที่อันตราย เช่น Drone, Smart wearable และ Sensor
ภาครัฐอาจสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างการกำหนดมาตรฐานการใช้ BIM ในการประมูลโครงการภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการสูง การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างที่ลงทุนเทคโนโลยีก่อสร้าง และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ลดภาษีนำเข้าเทคโนโลยีก่อสร้าง ซอฟต์แวร์ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ลดการก่อมลภาวะ สนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs
อีกทั้ง ยังจำเป็นต้องยกระดับทักษะบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างจำเป็นต้องยกระดับทักษะแรงงานพื้นฐานบางส่วนให้ไปทำงานควบคุมเทคโนโลยีแทน และจำเป็นต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทการก่อสร้างที่จะแตกต่างกันออกไป โดยการยกระดับทักษะแรงงานให้สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มค่าแรง และจูงใจให้แรงงานวัยทำงานยังอยู่ในภาคก่อสร้าง อีกทั้ง จะนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพในภาคก่อสร้างได้อย่างยั่งยืน
ความท้าทายของภาคก่อสร้างที่ต้องเผชิญ
ปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างกลับเข้ามาทำงานในไทยเทียบเท่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อรองรับกิจกรรมการก่อสร้างที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ดี จำนวนแรงงานไทยในภาคก่อสร้างที่กลับมาปรับตัวลดลง เป็นเหตุให้ภาคก่อสร้างยังคงมีความต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มเติม ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแรงงานต่างชาติชาวเมียนมา สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ในภาคก่อสร้างรวมกันกว่า 6 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของแรงงานพื้นฐานในภาคก่อสร้างโดยรวม
โดยในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา พบว่า แรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างออกจากไทยไปจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดคลี่คลาย ได้มีการทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมการก่อสร้าง ทั้งโครงการก่อสร้างภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ส่งผลให้แรงงานต่างชาติได้ทยอยกลับมาทำงานในไทยมากขึ้น อีกทั้ง ภาครัฐส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติกลับเข้ามาทำงานในไทยผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการนำเข้าแรงงานต่างชาติมาทำงานกับนายจ้าง
SCB EIC มองว่า ความไม่สอดคล้องกันระหว่างลักษณะงาน กับโครงสร้างกำลังแรงงานในภาคก่อสร้าง อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า จำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างที่ได้รับค่าจ้างระดับต่ำ หรือเป็นแรงงานพื้นฐานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2014 สัดส่วนแรงงานพื้นฐานอยู่ที่ 25% ของแรงงาน
ในภาคก่อสร้างโดยรวม และได้ปรับตัวสูงขึ้นมาสู่ 28% ของแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวมในปี 2022 การที่ภาคก่อสร้างไทยพึ่งพาแรงงานพื้นฐานในสัดส่วนที่สูงขึ้น สะท้อนกิจกรรมในภาคก่อสร้างที่ยังกระจุกตัวอยู่ที่กิจกรรมพื้นฐาน โดยยังไม่มีการยกระดับไปสู่กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก รวมถึงยังขาดการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ เพื่อลดการใช้แรงงานพื้นฐานลง
นอกจากนี้ หากพิจารณากำลังแรงงานควบคู่กันไป จะพบว่า สัดส่วนแรงงานสูงอายุในภาคก่อสร้างก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2557 สัดส่วนแรงงานที่อายุ 50 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 25% ของแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวม และได้ปรับตัวสูงขึ้นมาสู่ 29% ของแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวมในปี 2565
โดย SCB EIC มองว่า ลักษณะงานพื้นฐานในภาคก่อสร้างจำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีกำลัง และทักษะเฉพาะ จึงต้องพึ่งพากำลังแรงงานวัยทำงานเป็นหลัก ซึ่งสัดส่วนแรงงานสูงอายุในภาคก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างลักษณะงาน กับโครงสร้างกำลังแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไปในภาคก่อสร้าง