วิจัยชี้ ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่เวิร์ก Productivity ลดลง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ

วิจัยชี้ ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่เวิร์ก Productivity ลดลง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ

ชั่วโมงการทำงานยิ่งมาก คนทำงานยิ่งโง่ลง? วิจัยชี้ ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ไม่เวิร์ก ทำให้ Productivity ลดลง ความจำถดถอย เสี่ยงโรคหัวใจและปัญหาสุขภาพจิต

Key Points: 

  • บริษัทที่เสนอชั่วโมงการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้สมัครงานที่มีความสามารถ เพราะพวกเขามองหาบริษัทที่เวลางานยืดหยุ่นกว่านี้
  • ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมองจะจดจำได้น้อยลง และการใช้เหตุผลลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือพูดได้ว่า “คนเราจะโง่ลง (การทำงานของสมองลดลง) เมื่อเราทำงานมากเกินไป” 
  • WHO) ระบุว่า ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 35% และเสี่ยงต่อโรคหัวใจ 17%

ในขณะที่ทั่วโลกหันมาปรับโหมดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ (The 4 days workweek) แต่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ยังมีบางบริษัทที่ต้องการให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นอาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้สมัครงานอีกต่อไป

วิจัยชี้ ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่เวิร์ก Productivity ลดลง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ

 

  • ชาวออฟฟิศยุคใหม่ ปฏิเสธบริษัทที่เสนองาน 6 วันต่อสัปดาห์

The Times of India รายงานว่า ในอดีตพนักงานออฟฟิศในอินเดียส่วนใหญ่ทำงาน 5.5 - 6 วันต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ลูกจ้างเริ่มมองหาบริษัทที่เสนอชั่วโมงการทำงานเพียง 5 วันต่อสัปดาห์ หากบริษัทไหนยังมีชั่วโมงการทำงานยาวนานเหมือนเดิม ก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้สมัครงานที่มีความสามารถสูง 

Ronesh Puri กรรมการผู้จัดการของ Executive Access (India) ซึ่งเป็นบริษัทค้นหาบุคลากรชั้นนำระดับโลก กล่าวว่า หากบริษัทเสนอชั่วโมงทำงาน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเป็นบ่อนทำลายข้อตกลงกับผู้สมัครงานที่มีความสามารถ เพราะพวกเขาจะมองหาบริษัทอื่นที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า

ด้าน James Agrawal กรรมการผู้จัดการของบริษัท BTI Executive Search อธิบายว่า ช่วงหลังวิกฤติโควิด องค์กรต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทใดยื่นเงื่อนไขว่าต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ จึงทำให้ผู้สมัครงานไม่สนใจตำแหน่งงานนั้นๆ อีกทั้งบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถออกไปมากขึ้น หากพวกเขาไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน

ในขณะที่ประเทศไทย ก็มีการแชร์ข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นของการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกัน โดยโพสต์ต้นทางได้เปิดประเด็นว่า มี HR บริษัทแห่งหนึ่งพบว่า 80% ของผู้สมัครงานคนไทย จะปฏิเสธงานทันทีที่รู้ว่าต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งมีหลายคนเห็นด้วยพร้อมเข้ามาแชร์เรื่องราวของตนเองในทำนองว่า เคยผ่านการทำงานแบบ 6 วันมาแล้ว เหนื่อยมาก, แทบไม่มีเวลาส่วนตัวให้ตัวเองเลย, เวลาพักผ่อนสัปดาห์ละ 1 วัน มันไม่พอ เป็นต้น

วิจัยชี้ ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่เวิร์ก Productivity ลดลง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ

 

  • ทำไมการทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ถึงเป็นไอเดียยอดแย่? 

ข้อมูลจาก Linkedin เว็บไซต์หางานระดับโลก ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการทำงานนานถึง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (วันละ 8 ชั่วโมง, 6 วัน/สัปดาห์) อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิตครอบครัว และประสิทธิภาพการทำงาน 

อีกทั้งหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลก ต่างก็สนับสนุนให้ผู้คนทำงานเพียงสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เนื่องจากพวกเขาพบว่า การทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า, โรคหัวใจ, และภาวะหัวใจวายได้ 

เนื่องจากเมื่อมีเวลาน้อยลง พวกเขามักจะละทิ้งนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เช่น มองข้ามการออกกำลังกาย, ใช้วิถีชีวิตที่มีความเครียดสูง, ไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง, กินอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีประโยชน์, ไม่มีเวลาผ่อนคลายให้ตนเอง ครอบครัว และเพื่อนฝูง ดังนั้น การทำงานเป็นเวลาเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของวัยทำงานทั่วโลก

 

  • ยิ่งชั่วโมงทำงานมากเกินไป ก็ยิ่งโง่ลง (สมองส่วนความจำมีประสิทธิภาพลดลง)

นอกเหนือจากผลกระทบที่ชัดเจนต่อสุขภาพแล้ว การทำงานมากเกินไปอาจทำให้ “การทำงานของสมองด้านการรับรู้ลดลงได้” ยืนยันจากจากงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านการระบาดวิทยา American Journal of Epidemiology ที่ทีมวิจัยได้ศึกษานานถึง 5 ปี

โดยทำการทดสอบเชิงเปรียบเทียบระหว่าง “ผู้ที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” กับ “ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” เพื่อประเมินความสามารถของสมองในด้านความฉลาด การจดจำคำพูด และการจดจำคำศัพท์

ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถจดจำคำพูดและศัพท์ได้น้อยกว่า รวมถึงมีความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงสะท้อนความจริงที่ว่า “คนเราจะโง่ลง (การทำงานของสมองลดลง) เมื่อเราทำงานมากเกินไป” 

ขณะที่ Tasha Eurich นักจิตวิทยาองค์กร นักวิจัย และนักเขียนหนังสือขายดีของ New York Times เรื่อง “Bankable Leadership” ก็เห็นด้วยกับข้อมูลข้างต้น โดยเธอเชื่อว่า หากคนเราใช้เวลาทำงานน้อยลง พักผ่อนมากขึ้น และมีวันหยุดยาวเป็นครั้งคราว จะสามารถช่วยให้สมองปลอดโปร่ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

วิจัยชี้ ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่เวิร์ก Productivity ลดลง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ

 

  • การเพิ่มชั่วโมงทำงาน ส่งผล Productivity ลดลง เพิ่มความเครียด และเสี่ยงโรคหัวใจ

ขณะที่ข้อมูลจาก CNBC ก็ได้อ้างถึงผลวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ระบุว่า การเพิ่มชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์ ไม่เท่ากับการเพิ่ม Productivity เสมอไป อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทำงาน  50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะยิ่งลดลงมากขึ้นไปอีกเมื่อคนเราทำงานนานถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สอดคล้องกับผลการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ค้นพบว่า สุขภาพกายของเราจะเสียหายเนื่องจากการทำงานหนักเกินไป โดยหากผู้คนทำงานโดยเฉลี่ย 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 35% และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 17% เมื่อเทียบกับการเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมง สัปดาห์ทำงาน

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก Gallup survey ด้วยว่า การมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไป ยังส่งผลให้เกิดความเครียดจากการทำงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยพบว่า 48% ของพนักงานออฟฟิศที่ทำงานล่วงเวลาบ่อยๆ รายงานว่ารู้สึกว่าตนเองต้องเร่งรีบตลอดเวลาแทบไม่ได้พัก ส่วนอีก 52% บอกว่าพวกเขารู้สึกเครียดอย่างมาก 

ทั้งนี้ มีคำแนะนำจาก Gallup-Sharecare Well-Being Index ด้วยว่า หากคุณต้องการวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น แถมยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เป้าหมายที่น่าสนใจคือ การทำงานให้ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เล็กน้อย เช่น อาจลองลดเวลางานลง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะทำงานที่ทำงานหรือที่บ้าน คุณก็จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล 

จากหลักฐานทางงานวิจัยและผลสำรวจจากหลายแหล่งข้างต้น จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมวัยทำงานยุคนี้ถึงปฏิเสธบริษัทที่มีเงื่อนไขให้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และโหยหาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากกว่า แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหางานในฝันแบบนั้นได้ก็ตาม

---------------------------------------

อ้างอิง: The Times of IndiaCNBCWHOLinkedin1Linkedin2

Petae_Lynch