‘ไวรัสตับอักเสบ’ ภัยเงียบที่โลกต้องเร่งกำจัด
‘ไวรัสตับอักเสบ’ ถือเป็นภัยเงียบที่โลกต้องเร่งกำจัด แม้โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีคนหลายล้านคนติดเชื้อเหล่านี้จำนวนมาก และหากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งโรคตับ ซึ่งมีค่ารักษาที่แพงกว่าหลายเท่าตัว
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า “โรคมะเร็งตับ” นั้นมาจากหลายสาเหตุ ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์จนทำให้ตับแข็ง หรือการรับประทานอาหารดิบจนเกิดพยาธิในตับเท่านั้น แต่ “โรคไวรัสตับอักเสบ” ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด แต่ชนิดที่ผู้คนติดเชื้อจำนวนมากคือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคนี้จะแสดงอาการช่วงที่ป่วยในระยะสุดท้าย 3-6 เดือน ซึ่งหากไม่รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการเบื้องต้นของโรคที่เห็นได้ชัด เช่น น้ำหนักลดฮวบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตัวซีดเหลือง เป็นต้น
โรคไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การสัก การเจาะ หรือฝังเข็มโดยใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน แต่ไม่สามารถติดเชื้อได้จากการกิน การสัมผัสน้ำลาย หรือการใช้สิ่งของร่วมกันตามที่ใครหลายคนเข้าใจผิดมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความผู้ที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบจะเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ หรือเสียชีวิตเสมอไป เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ และหากรักษาโรคให้หาย จะยิ่งลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับได้ด้วย
สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่สามารถหายขาดเนื่องจากยังไม่มียารักษาแบบหายขาด เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะตรวจจำนวนไวรัสเพื่อดูว่าผู้ป่วยต้องกินยาในระยะยาว หรือตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคลและต้องคอยพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสทุก ๆ 6 เดือน
สำหรับไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้เพียงรับประทานยาประมาณ 12 สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากไม่ป้องกันการติดเชื้อให้ดี เช่น ผู้ที่ชอบเปลี่ยนคู่นอนและไม่ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์
เป้ากำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดภายในปี 2573
แม้โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีคนหลายล้านคนติดเชื้อเหล่านี้จำนวนมาก กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสเข้าร่วมงานประชุม APAC-IRIDS 2024 ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 18-21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีจำนวนมาก
ในปี 2565 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประชากร 304 ล้านรายที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีแบบเรื้อรัง และ 86% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจำนวน 254 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ และ 97% ไม่ได้เข้ารับการรักษา ในขณะเดียวกัน 63% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจำนวน 50 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ และ 80% ไม่ได้เข้ารับการรักษา
ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบใน APAC สูงราว 1ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์/เชื้อเอชไอวีถึงสามเท่า และถือเป็น 63% ของยอดผู้เสียชีวิตจากตับอักเสบทั่วโลก
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงมาก ในปี 2559 ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ในการตั้งเป้ากำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไปภายในปี 2573 โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดพิมพ์ Global Health Sector Strategy on viral hepatitis เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป้าหมายนี้คือ การเกิดโรคต้องลดลง 90% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีต้องลดลง 65% เมื่อเทียบจากปี 2558 ถึงปี 2573
แม้มีแนวทางให้หลายประเทศปฏิบัติตามเพื่อลดอัตราการเกิดโรค แต่ดูเหมือนว่าไวรัสตับอักเสบยังคงเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายฝ่ายต้องรวมกันแก้ไขปัญหา
อุปสรรคและความท้าทายของโรค
ในฟอรัม Diagnostics Media and Policy ดร. จอห์น วอร์ด ผู้อำนวยการ พันธมิตรสำหรับการกำจัดโรคตับอักเสบระดับโลก เผยว่า ไวรัสตับอักเสบเป็นภัยเงียบ กว่าจะรู้ตัวว่าป่วย โรคนี้ก็ลุกลามไปถึงระยะสุดท้าย ทำให้โรคยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แต่หากผู้คนได้รับการป้องกันหรือตรวจรักษาได้ทันท่วงที ก็จะไม่มีการเสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบ
สำหรับอุปสรรคและความท้าทายของโรคไวรัสตับอักเสบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โรเบอร์ตา ซาโน ผู้อำนวยการสมาคมโรคตับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ปัญหาหลักในภูมิภาคนี้คือ ประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ยังขาดแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ครอบคลุม ทำให้ความพยายามในระดับประเทศไม่ได้รับความร่วมมือมากพอ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกัน การตรวจ และการรักษายังไปไม่ถึงคนในวงกว้าง
นอกจากนี้ ผู้คนยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ
“แต่ข้อมูลต่าง ๆ กลับชี้ให้เห็นว่า หากเทียบกับค่าใช้จ่ายรักษากับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่ทำอะไรเลย มันถือว่าน้อยกว่ามาก” ซาโน กล่าว
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับไวรัส
อุปสรรคจากการตีตราทางสังคมและความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้และไม่เข้าใจเกี่ยวกับการแพร่เชื้อของโรค ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่ไปตรวจ ไม่เข้ารับการวินิจฉัยและรักษา เช่น ผู้คนบางประเทศในเอเชียแปซิฟิก มองว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอาจทำให้ไม่มีใครจ้างงาน หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ตรวจหาโรค
ด้านดร. ซาอี๊ด ฮามิด ศาสตราจารย์และประธานมหาวิทยาลัยอากาขานปากีสถาน เสริมว่า แม้ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกมีแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องไวรัสตับอักเสบ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำแผนไปปฏิบัติใช้จริง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ
ดร.ฮามิด คาดการณ์ด้วยว่า APAC อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายปี 2573 ได้เนื่องจากโรคนี้ควรประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ทัน แต่ระบบสาธารณสุขบางประเทศยังไม่สามารถรองรับภาวะฉุกเฉินของโรคนี้ได้
โดยสรุปจากฟอรัมดังกล่าว การมุ่งไปสู่เป้าหมายกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบอย่างแรกที่ต้องทำคือ มีแผนปฏิบัติระดับชาติ รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกัน เช่น ให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบตั้งแต่เกิด และกำหนดแนวทางเชิงรุกตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการตรวจหาโรคนี้ถูกลงมาก และเมื่อพบผู้ติดเชื้อให้รีบนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันท่วงที