brAIn-based leadership | เส้นทางแห่งผู้นำ
ปีใหม่นี้จะพามารู้จักกับ การพาผู้นำสมอง Brain-Based Leadership ไปสู่ brAIn-based leadership โดยจะทำอย่างไรให้ผู้นำสมองทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปีใหม่นี้ คุณผู้อ่านมีเป้าหมายแล้วหรือยังครับ?
เป้าหมายของผมปีนี้ คือการพาผู้นำสมอง Brain-Based Leadership ไปสู่ brAIn-based leadership
อ่านเหมือนกัน แต่เขียนต่างกันตรง AI Artificial Intelligence ทำอย่างไรให้ผู้นำสมองทำงานร่วมกับ AI หรือพูดกว้างๆ ก็คือ Leading with Tech, Not Against
จริงๆ จะว่าไป เจ้า AI นี้ก็พัฒนามาจากความเข้าใจด้านสมอง มีความสัมพันธ์อย่างยาวนานแล้ว ว่ากันว่าบิดาของ AI คือศาสตราจารย์ Norbert Weiner จาก MIT ซึ่งมีความคิดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ว่าสมองกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน His natural inclination was to blend these two fields, so a relationship between neuroscience and computer science was formed. This relationship became the cornerstone for the creation of artificial intelligence as we know it.
หลายท่านคงเคยได้ยินการอ้างอิงถึงระบบสมองเช่น Neuronal Network ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระบวนการสำคัญอันนำมาสู่ความสามารถของ AI ที่เราเห็นในปัจจุบัน Neuronal Network คือเครือข่ายประสาท เป็นแบบจำลองการคำนวณที่เลียนแบบการทำงานและโครงสร้างของเซลล์ประสาทในร่างกายมนุษย์ เป็น learning algorithm ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวของสมองของเรา
นี่ยังไม่รวมถึงระบบสมองอื่นๆ เช่น Hierarchical processing, plasticity, and parallel processing
สำหรับผู้นำสมอง ผมขอสรุปตามความคิดของตัวเองเป็น 4 ระบบ แรงบันดาลใจมาจากหนังสือของ Doctor Tara Swart จำง่ายๆ ว่า ConRAD เหมือนชื่อโรงแรม
ระบบที่หนึ่ง Control Network หน้าที่หลักของสมองคือรักษาร่างกายให้รอด แม้ตอนนี้เราอาจไม่ได้มีศัตรูทางกายเหมือนเมื่อสมัยหนีเสืออยู่ในป่า แต่สำหรับสมองภัยทางสังคมก็ไม่ต่างกัน การวางแผนจัดการเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ทักษะการเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ตัวเอง ล้วนเป็นหน้าที่ของระบบสมองระบบนี้ ซึ่งผมคิดว่า AI เริ่มทำตรงนี้ได้ดีไม่แพ้คน
ระบบที่สอง Reward Network การทำงานในองค์กรเราเคยใช้ระบบนี้จูงใจให้ได้งาน เช่น การให้รางวัลด้วยเงินเดือน เลื่อนขั้น แจกโบนัส หรือลงโทษเมื่องานไม่ได้ผล เมื่อมี AI เข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น มนุษย์เริ่มถูกชักจูงให้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยเทคโนโลยี เช่น Netflix นำเสนอซีรี่ยส์เรื่องต่อไปที่เราน่าจะชอบดู หรือ Amazon นำเสนอสินค้าที่เราน่าจะอยากซื้อ พร้อมโปรโมชั่นอันจูงใจ เป็นต้น
ระบบที่สาม Affect Network สมองส่วนหลังแห่งอารมณ์คือระบบอันทรงพลัง อารมณ์เป็นเหมือนพวงมาลัยที่บอกสมองว่ามันควรเลี้ยวไปทางไหน หากหัวหน้าทำให้ผิดหวังเสียใจ สมองก็จะบันทึกอารมณ์นั้นไว้ว่าให้ร่างกายอยู่ห่างๆ หากหัวหน้าทำให้ลูกน้องรู้สึกไว้ใจ ได้อิสระ สร้างผลงานร่วมกัน สมองก็จะบันทึกอารมณ์ดีๆ ไว้สร้างความรู้สึกทุ่มเทผูกพัน ตรงนี้ AI อาจยังสู้คนไม่ได้ แต่คงอีกไม่นาน
ระบบที่สี่ Default Network ระบบสุดท้ายนี้คือการ Thinking by not thinking การไม่ตั้งใจคิดอะไรไม่ได้แปลว่าสมองไม่ทำงาน ตรงกันข้าม สมองมนุษย์แอคทีฟเป็นพิเศษเมื่อมีพลังงานเหลือมาใช้ในการครุ่นคิด การที่เด็กนั่งตาแป๋วฟังครูในห้อง หรือการที่พนักงานนั่งพิมพ์อะไรต่อมิอะไรง่วนทั้งวัน จึงอาจไม่ใช่วิธีวัดผลความสำเร็จอันตรงตามการทำงานของสมองเสียทีเดียว ในยุคที่ความอยู่รอดคือนวัตกรรม Innovation ความสร้างสรรค์ Creativity และ การเปลี่ยนแปลง Agility ผู้นำต้องเรียนรู้ว่าเราจะนำ AI มาช่วยการเชื่อมต่อข้อมูล และแปลงข้อมูลที่ดูไม่เกี่ยวกันเหล่านั้นให้กลายเป็นมูลค่าได้อย่างไร
คำถามสำหรับผู้นำสมอง “หากผมให้คุณผู้อ่านแบ่งเปอร์เซ็นต์ในแต่ระบบของ ConRAD ข้างต้น ระหว่างส่วนที่ควรให้มนุษย์พนักงานในองค์กรทำต่อไป กับส่วนที่ควรเอาเทคโนโลยีและ AI มาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะแบ่งอย่างไรครับ?”
คำถามโบนัส “มีอะไรในปี 2025 บ้างที่องค์กรของคุณควรทำเพื่อไปสู่เปอร์เซ็นต์การแบ่งดังกล่าวครับ?”
ปีใหม่นี้ คุณผู้อ่านมีเป้าหมายแล้วหรือยังครับ?