Change Vision ขับเคลื่อนองค์กร | เส้นทางแห่งผู้นำ
หากผู้นำมองว่าองค์กรไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารวิสัยทัศน์ ต้องลองพิจารณใหม่ว่านั่นคือการใช้ Corporate Vision หรือ Change Vision ซึ่งการใช้ Change Vision เป็นการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความเข้าใจพนักงาน แล้วคุณผู้อ่านขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิธีอะไรกันบ้าง?
คุณผู้อ่านลองสมมติตนเองเป็นผู้นั่งดูเหตุการณ์ตัวอย่างนี้ เดี๋ยวเล่าเสร็จผมมีคำถามให้ลองตอบ เรื่องนี้เกี่ยวกับเด็กผู้หญิงสองคนชื่อว่า Sally กับ Ann
เรื่องมีอยู่ว่า แซลลี่และแอนนั่งเล่นอยู่ด้วยกัน ตรงหน้ามีกล่องสองใบ ใบหนึ่งสีดำ ใบหนึ่งสีขาว จู่ๆแม่เรียกให้คนหนึ่งลุกไปช่วย
แม่: “แซลลี่... มาช่วยแม่หาของหน่อยแป๊บนึงจ้ะ”
แซลลี่: “ได้ค่ะแม่” แล้วเจ้าตัวก็ลุกขึ้นยืน เอาลูกบอลในมือใส่ไว้ในกล่องสีขาวแล้วปิดฝา ก่อนเดินออกจากห้องไป
แอน: นึกสนุกขึ้นมา จึงย้ายลูกบอลของแซลลี่จากกล่องสีขาวเอาไปไว้ในกล่องสีดำ แล้วปิดฝาไว้
สักพักแซลลี่ช่วยแม่หาของเสร็จเรียบร้อย ก็กลับมาในห้องตั้งใจจะมาเล่นบอลต่อ พบแอนนั่งอยู่พร้อมกับกล่องสีดำและกล่องสีขาวเช่นเดิม
คำถามสำหรับคุณผู้อ่านคือ “คิดว่าแซลลี่จะหาลูกบอล 1) ในกล่องสีขาว หรือ 2) ในกล่องสีดำ?”
นี่คือการทดสอบ Theory of Mind (ToM) ซึ่งแปลเป็นไทยให้เข้าใจคือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น หรือการมองโลกผ่านสายตาของผู้อื่น หากคำตอบของคุณคือ 1) แซลลี่จะหาลูกบอลในกล่องสีขาว แสดงว่าคุณมี ToM เด็กผู้หญิงวัยเกินสี่ขวบมักตอบตามนี้ แปลว่าคุณสามารถคิด ‘แทน’ แซลลี่ได้
ในมุมกลับกัน หากคุณตอบว่า 2) แซลลี่ก็ต้องหาลูกบอลในกล่องสีดำสิ แสดงว่าขาด ToM เด็กผู้ชายวัยไม่เกินสี่ขวบมักตอบแบบนี้ ผมทดลองแล้วกับน้องธีร์ได้ผลตามนั้น นายตัวเล็กยืนยันว่าลูกบอลอยู่ในกล่องสีดำ “เพราะมันอยู่ในนั้นจริงๆนี่พ่อ”
สำหรับผู้นำสมอง Theory of Mind คือความแตกต่างระหว่าง Change Vision กับ Corporate Vision
Corporate Vision
วิสัยทัศน์ขององค์กรคือสิ่งที่องค์กรอยากเป็น เช่น"เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีในระดับภูมิภาค ให้การบริการที่ครบวงจรแบบ One Stop Service บนมาตรฐานของ Sustainable Excellence" หลังจากนั้นก็วางแผนกลยุทธ์เพื่อดำเนินการให้บรรลุซึ่งความฝันนั้น แล้วสื่อสารให้พนักงานรับทราบและปฏิบัติ
แต่เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่องค์กรอยากเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่พนักงานอยากเป็น?? ในฐานะของสมาชิกองค์กรหลายแห่ง ผมพูดแทนได้ว่าหลายคำที่องค์กรใช้โดยเข้าใจว่าจะสร้างความฮึกเหิมให้กับพนักงาน กลับส่งผลตรงข้าม เช่น
องค์กรบอกว่า “อยากเป็นผู้นำตลาด...” สิ่งที่พนักงานคิดคือ “ขอเป็นเบอร์สองแล้วทำเท่าที่ทำตอนนี้ต่อไปได้ไหม?”
องค์กรบอกว่า "อยากให้บริการที่ครบวงจร One Stop Service" สิ่งที่พนักงานคิดคือ “พี่ลองมาทำเองดูบ้างไหม?”
หลายคำที่องค์กรชอบพูดแต่พนักงานฟังแล้วขนหัวลุกคือ ‘Leading’ ‘Sustainable’ และ ‘Excellence’ ทำไมน่ะหรือ? ตอบง่ายๆเลย "เพราะมันเหนื่อย(_ว้ย)"
การเปลี่ยนแปลงในหลายองค์กรจึงตายตั้งแต่เอา Corporate Vision ไปสวมรอยเป็น Change Vision ผู้บริหารขาด Theory of Mind อาศัยการยืนยันว่าลูกบอลอยู่ในกล่องสีดำโดยไม่คำนึงว่าแซลลี่หรือพนักงานมองโลกอย่างไร
Change Vision
หัวใจของการเปลี่ยนแปลงใดๆคือการขับเคลื่อนมวลชน หากคุณสามารถขยับ 70% ของคนในองค์กรไปในทิศทางที่อยากเห็น ส่วนที่เหลือจะต้องตัดสินใจเองว่าเขาจะอยู่หรือไป และคุณคิดว่ามวลชน 70% จะไปขยับตามสิ่งที่ ‘คุณ’ อยากได้ หรือขยับตามสิ่งที่ ‘เขา’ อยากได้?
นี่คือ Theory of Mind ในชีวิตการทำงานจริง
งั้นก่อน CEO จะโวยวายใส่แผนกสื่อสารองค์กรว่าไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารวิสัยทัศน์ที่คุณประกาศไว้ ลองพิจารณาดูก่อนไหมว่านั่นคือ Corporate Vision หรือ Change Vision?
หากคุณผู้อ่านอยู่ในองค์กรที่ใช้ Corporate Vision ในการขับเคลื่อนคนแล้วพบว่าไม่ค่อยเวิร์ค ลองคิดถึง Change Vision ดูบ้างไหมครับ?