เหงื่อทุกหยด อนาคตยางนา Run for Yangna 2020

เหงื่อทุกหยด อนาคตยางนา Run for Yangna 2020

จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้วิ่งไปบนเส้นทางของถนนซึ่งหลายคนยกให้เป็นเส้นทางสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าถนนต้นยางนา หรือว่า ถนนสารภี แต่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน สายนี้คือประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตและยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนมากมายในแต่ละวัน ทว่าเกือบทั้งหมดคือยานพาหนะชนิดต่างๆ แต่กับการวิ่งเคียงข้างไปกับต้นยางนาเกือบพันต้นยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในงาน วิ่งเพื่อยางนา Run For Yangna 2020 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

แล้วทำไมจึงต้องวิ่งเพื่อยางนา ทำไมต้องวิ่งบนถนนสายนี้ เราจะพาไปหาคำตอบ

ต้นยางนาที่เรียงรายอยู่สองข้างทางทั้งสิ้น 949 ต้น แต่ละต้นมีอายุนับร้อยปี เป็นรุกขมรดกของประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาเกิดสารพัดปัญหาเกี่ยวกับต้นยางนา กระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งปัญหากิ่งไม้หักโค่นใส่บ้านเรือนและทรัพย์สิน ทั้งถูกตีตราว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน จนบางคนเรียกร้องให้ตัดทิ้งเสียด้วยซ้ำ แถมต้นยางนายังต้องต่อสู้กับโรคพืชต่างๆ นานา เรียกได้ว่าหลายต้นสุ่มเสี่ยงที่จะตาย

ขณะที่ปัญหาระหว่างคนกับต้นยางนากำลังคาราคาซัง ยังมีหลายคนพยายามหาทางแก้ไข หนึ่งในนั้นคือการสร้าง รุกขกร ผู้ดูแลต้นไม้ทั้งระบบ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘หมอต้นไม้’ แน่นอนว่าบทบาทหน้าที่ของหมอต้นไม้คือตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จากรากจนถึงใบ พวกเขาทำหน้าที่กันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดกำลังเกิดโครงการ ฟื้นฟูเยียวยายางนา เชียงใหม่-ลำพูน ถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจริญพระชนมายุครบ 65 พรรษา โดยแบ่งภารกิจออกเป็นหลายระยะ ได้แก่ ระยะด่วนที่สุด ตัดแต่งต้นยาง 50 ต้น ก่อนพายุรอบใหม่จะถล่มอันจะก่อเกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านและผู้สัญจรไปมาได้ ต่อด้วยระยะฟื้นฟูระบบราก เพื่อให้สุขภาพของต้นยางนาแข็งแรง และระยะที่สาม คือ ปรับระบบ-อบรม ซึ่งทั้งหมดนั้นแม้จะดำเนินการในนามองค์กรเพื่อสังคม แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมวิ่งเพื่อยางนาจึงเกิดขึ้น

ช่วงเช้ามืดที่ดวงตะวันยังไม่ฉายแสง นักวิ่งมากหน้าหลายตารวมทั้งเยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่จำนวนเกือบ 2,000 คน พร้อมใจกันมายังโรงเรียนสารภีพิทยาคม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แม้ระยะทางที่วิ่งจะแตกต่างกันคือ มีทั้งระยะ 5 กิโลเมตร ในประเภท Fun Run และระยะ 12 กิโลเมตร ในประเภทมินิมาราธอน แต่ทุกหัวใจมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการช่วยเหลือต้นยางนาแล้วยังได้สุขภาพดีเป็นของแถมด้วย

86491055_2832655926793201_590210115143991296_o

จากแนวคิด ‘ยางนาพันต้น หมื่นคนรักษา’ กำลังได้รับการพิสูจน์ด้วยฝีเท้านับพันคู่และหัวใจอีกนับพันดวง วีระยุทธ เงินชุ่ม รุกขกรหนุ่มเป็นหนึ่งในคนที่มาร่วมวิ่งเพื่อยางนา นอกสนามวิ่งเขามีหน้าที่ทำให้ต้นยางนาไม่เป็นปัญหาต่อสังคม โดยการปีนขึ้นไปตัดแต่งด้วยทักษะการปีนและใช้เชือก

“ผมทำงานเกี่ยวกับต้นไม้มาประมาณ 6 ปี ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มตื่นตัว หลายที่หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสนใจการตัดแต่งถูกวิธี คนรุ่นใหม่เขารู้แล้วว่ามีการตัดให้ถูกวิธี แล้วถ้าทำผิดวิธีมีผลกระทบอะไร ผมเลยรู้สึกว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน

ผมเคยไปคุยกับหน่วยงานหนึ่ง เขาบอกว่าตัดให้กุดเลยจะได้จบๆ ผมก็บอกเขาว่าถ้าตัดแบบนี้เวลามันขึ้นจะฟูนะ จะควบคุมยากนะ เดี๋ยวนี้หลายๆ ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเรียนรู้กับเราเรื่องการตัดแต่งด้วย การใช้อุปกรณ์ด้วย”

แต่กว่าจะเกิดงานวิ่งนี้ขึ้นมาได้ต้องรวบรวมสรรพกำลังและทุนทรัพย์จำนวนมาก ซึ่ง ชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล ประธานบริษัทโอ้กะจู๋ และบริษัทในเครือ ได้รับอาสาเป็นหัวเรือใหญ่ระดมทุนจากบรรดาผู้ใหญ่ใจดีอีกหลายเจ้า เพราะได้รู้จักกับสมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม แล้วเห็นความตั้งใจดี กอปรกับทราบเรื่องราวที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยมีพระราชดำรัสให้รักษาต้นยางนาเอาไว้

“ผมเลยยกหูหาสปอนเซอร์ ขอปตท.สองแสนเขาก็ให้ ขอลูกลูกก็ให้ ผมบอกว่าโอ้กะจู่เราต้องตอบแทนสังคมนะ เขาไม่มีปัญหาก็ลุยเลย ผมบอกใครเขาก็ให้เพราะเป็นเรื่องดีๆ แต่ด้วยความที่ผมไม่อยากแทรกแซงคนทำงาน ผมจึงเป็นเพียงคนสนับสนุนที่ไม่ก้าวก่ายการทำงานของเขาเลย

งานนี้คนเชียงใหม่-ลำพูน ต้องรู้คุณค่าของต้นยาง เราก็คิดกันว่าจะทำอย่างไร เราก็ไปปิ๊งคำว่า ยางนาพันต้น หมื่นคนรักษา เพราะผมคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่คุณ ไม่ใช่หน้าที่ผม เป็นหน้าที่ทุกคน”

86426028_2832655816793212_7299122092908216320_o

หลังจากได้ทุนตั้งต้นแล้ว งานวิ่งครั้งแรกของกลุ่มคนที่รักและหวงแหนต้นยางนาจึงเกิดขึ้น หลายคนรู้ดีว่าการจัดงานวิ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือการจัดเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะเพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม แต่กับงานวิ่งเพื่อยางนา ชัดชาญบอกว่าต้องลึกซึ้งกว่านั้น

“งานวิ่งอื่นอาจจัดเพื่อเอาเงิน แต่งานวิ่งเพื่อยางนาจัดเพื่อสร้างจิตสำนึก มันสำคัญกว่าเงิน ผมบอกว่าต้องเอาเยาวชนมาวิ่งด้วยและให้เขารู้ว่าต้นยางนี่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เชียวนะ ต่อไปพอรุ่นเราตายไป รุ่นนี้จะได้รับรู้ว่าต้องช่วยกันดูแลอย่างไร ปัญหามีต้องแก้อย่างไร ก็โชคดีนะครับที่ได้ความร่วมมือจากผู้อำนวยการโรงเรียน นายอำเภอ นายกอบต. พาเด็กๆ มาร่วมวิ่งน่าจะเกือบพันคน เราไม่ได้เงินจากเด็กนะครับ แต่เรามีความสุขว่าเราได้เริ่มทำให้เขาสนุกและเขาได้เห็น ได้รับรู้ นี่เป็นกำไรที่ตีเป็นตัวเงินไม่ได้”

อย่างที่เขาบอกว่าต้นยางนาบนถนนสายนี้มีมาช้านาน เป็นความสำคัญในระดับประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ คือเริ่มต้นปลูกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยุคนั้นสยามประเทศจัดการปกครองส่วนภูมิภาค จากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงจากรัฐบาลกรุงเทพมาปกครอง เชียงใหม่ในเวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง ‘เจ้าหลวง’ เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่

สมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความดูแลของข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า ‘น้ำต้อง กองต๋ำ’ อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้กำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว, ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสักและต้นสน, ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่, ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก, ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก

ปัจจุบันแม้ถนนสายนี้จะมีหน้าที่หลักคือเป็นเส้นทางสัญจร และต้นยางนาไม่ต้องทำหน้าที่บอกอาณาเขตอีกต่อไปเพราะมีป้ายจราจรและอื่นๆ เข้ามาแทนที่ แต่สองข้างทางอันร่มรื่นและสวยงามยังยืนยันได้ว่าต้นยางนายังสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อม

ถึงนักวิ่งจะเข้าเส้นชัยไปหมดแล้ว แต่สำหรับการต่อสู้ของต้นยางนา หนทางยังอีกยาวไกล และยังต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคนต่อไป

86432521_2832655756793218_1509757691185070080_o